วันจันทร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2553

โครงการเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์

เมื่อสมัยผมอยู่ ม. 5 ผมได้เคยลองไปสัมผัสประสบการณ์ไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนโครงการ AFS ผ่านมา เมื่อตอนนั้น จำได้ว่า AFS ทำให้เราได้พบกับประสบการณ์ที่ดีที่สุดในชีวิตครั้งหนึ่ง...

ผ่านมาแล้ว 5 ปี จนได้เข้ารั้วมหาวิทยาลัย ไม่เคยคิดว่า ตัวเองจะได้หวนคืนสู่ความทรงจำแบบเก่าๆ อีกครั้งหนึ่ง แต่เต็มเปี่ยมไปด้วยความแปลกใหม่ที่เป็นประสบการณ์ที่สุดยอดกว่าเดิม นั่นก็คือการได้ไปร่วม "โครงการเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์" หรือ The Ship for Southeast asian Youth Programme (SSEAYP)

บางคนอาจจะเคยได้ยินว่า "เฮ้ย นายไปเรือมาหรอ" "ไปโครงการเรือเยาวชนมาค่ะ" ตอนแรกสมัยที่เราไม่รู้จักโครงการนี้ก็งงว่ามันเรืออะไร เรืออีแจว เรือหางยาว? อะไรของมัน... แต่อย่างไรก็ตามโครงการนี้เป็นอีกโครงการที่เก่าแก่ไม่แพ้ AFS และมีความโดดเด่นมาก

Q : แล้ว โครงการเรือนี่มันคืออะไรล่ะ?
A : โครงการเรือฯ หรือ โครงการเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์ "The Ship for Southeast asian Youth Programme" เรียกย่อๆว่า SSEAYP (คนมักเรียกง่ายๆว่า เซี๊ยบ! เหมือนคำอุทานเป็นภาษานกกระจอก อะไรซักอย่าง) เป็นโครงการที่จัดโดยรัฐบาลประเทศญี่ปุ่นเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่าง ญี่ปุ่น กับ ประเทศในกลุ่มอาเซียน ซึ่งจะเปิดโอกาสให้เยาวชนจากญี่ปุ่น และ อาเซียนได้เดินทางไปยังประเทศญี่ปุ่น และ ประเทศอาเซียน รวมแล้วใน 1 ปี จะเดินทางไปทั้งหมด 6 ประเทศ ปัจจุบัน โครงการเรือได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลทุกประเทศ และก้าวเข้าสู่ปีที่ 37 แล้ว




Q : โครงการ เซี๊ยบ!!!(SSEAYP) เนี่ยมันมีความโดดเด่น และพิเศษอย่างไร?
A : โครงการเรือ จะเป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้เยาวชนจาก อาเซียน(ASEAN) และญี่ปุ่น ได้เข้ามาแลกเปลี่ยนความรู้ โดยที่ทุกคนจะเดินทางไปรวมกันที่ญี่ปุ่น และทำกิจกรรมเป็นเวลาสองอาทิตย์ ก่อนที่จะได้ขึ้นเรือสำราญชื่อดังของญี่ปุ่นชื่อว่า "Nippon Maru" ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนไปใช้เรือ "Fuji Maru" ซึ่งเรือจะแล่นไปเยือนประเทศ ASEAN ต่างๆ ซึ่งแต่ละปีจะแวะไปในประเทศที่ไม่เหมือนกัน และเมื่อเรือแวะเยือนตามประเทศต่างๆ เราจะได้ไปอาศัยอยู่กับ Host Family ประเทศละ 3 วันด้วย ส่วนกิจกรรมบนเรือ จะมีทั้งวิชาการ และความสนุกสนาน รวมถึงการแสดง และเพลินไปกับทิวทัศน์ของมหาสมุทรแปซิฟิค และน่านน้ำประเทศต่างๆ ชมพระอาทิตย์ตก นั่งปาร์ตี้ที่กาบเรือ ดีไม่ดีก็อาจจะได้เจอปลาโลมา ปลาวาฬ และปลาฉลาม(ที่พูดเพราะเจอมาแล้ว) มาว่ายเคียงเรืออีก โอว มันโรแมนติกจริงๆ

Q : ระยะเวลาของโครงการใช้เวลาเท่าไหร่?
A : ใช้เวลาโดยประมาณ 2 เดือนกว่า เริ่มจาก ใช้เวลาที่ญี่ปุ่น 10 วัน และอีก 40 กว่าวันที่เหลือจะเป็นการใช้ชีวิตบนเรือ และเยี่ยมประเทศในแถบอาเซียน ประเทศละ 3 วัน รวมแล้วก็ประมาณ สองเดือนครับ (อย่างปีที่ผมไปมา ไป 53 วันครับ)


Q : ได้ขนาดขึ้นเรือสำราญ 2 เดือน ค่าใช้จ่ายล่ะ... แพงแน่เลย
A : ฟังแล้วอย่าตกใจ แต่ทั้งหมดนี่คือฟรี ไม่ต้องเสียเงินเลยครับ รัฐฯญี่ปุ่นจ่ายให้พวกเราทุกคน ซึ่งเขาจะถือว่าเราเป็นแขกของประเทศนั้นๆ ดังนั้นนี่เป็นโอกาสที่เราจะได้ใช้เวลาในการหาประสบการณ์ใหม่ๆ แต่การที่เราได้ไปฟรี เราก็จะได้สร้างประโยชน์แก่สังคมด้วยเช่นกัน เท่ไหมละ ได้ขึ้นเรือสำราญและทำประโยชน์ด้วย

Q : แล้วประเทศที่ร่วมโครงการ มีประเทศไหนบ้าง และรับกี่คน?
A : รวมแล้วบนเรือจะมี 11 ประเทศร่วมโครงการ โดยที่จะมี ประเทศญี่ปุ่นเป็นตัวหลัก ตามด้วยชาติ ASEAN อีก 10 ประเทศ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย กัมพูชา ลาว บรูไน และ พม่า ในหนึ่งประเทศจะมีเยาวชน 28 คน ใช้ชีวิตร่วมกันตลอด 2 เดือน(ยกเว้น ญี่ปุ่น ที่จะมีประมาณ 40 คน เพราะเขาเป็นผู้จัดโครงการนี้ขึ้นมาครับ)


มาพอหอมปากหอมคอ กับการแนะนำโครงการ ตอนนี้เรามาดูวิดีโอเลยดีกว่า จะได้รู้จัก "โครงการเรือฯ" หรือ เซ๊๊ียบ!" มากขึ้น





อะ หวังว่าจะพอเห็นภาพมากขึ้นนะครับ :)

ทีนี้เรามาดูกันเลยว่า จะต้องเตรียมตัว และทำอย่างไร ที่จะได้เป็นส่วนหนึ่งของคณะเยาวชนที่จะได้ขึ้นเรือ Fuji Maru



รอบแรก! ข้อเขียน!


ในหนึ่งปี หน่วยงานที่รับผิดชอบของโครงการเรือจะเป็น สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็กและเยาวชนผู้ด้อยโอกาส และผู้สูงอายุ หรือ สท. จะเปิดรับสมัครในช่วงเดือน "เมษายน" การคัดเลือกจะมี 2 รอบซึ่งจะอธิบายในต่อๆไป แต่การสมัครคัดเลือกรอบแรก จะแบ่งเป็น 2 แบบ คือ

1. เยาวชนทั่วไป - ก็จะเป็นเยาวชนทั่วไป ตามชื่อ จากทุกแห่งทุกมุมของประเทศ เยาวชนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเยาวชนจากครอบครัวเจ้าภาพเยาวชน ที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ในประกาศรับสมัคร กลุ่มนี้จะต้องสอบข้อเขียนจากส่วนกลาง และจะต้องสอบที่ กทม. ครับ

2. เยาวชนตัวแทนจังหวัด - อันนี้ก็จะเป็นเยาวชนจากทุกแห่งหนในประเทศเช่นกัน แต่จะต้องยื่นที่ศาลากลางจังหวัด หรือ หน่วยงานที่รับผิดชอบในจังหวัดตามทะเบียนบ้านของเพื่อนๆครับ การคัดเลือกแบบตัวแทนจังหวัด ซึ่งอาจจะไม่ต้องผ่านการสอบข้อเขียน หรือจะเป็นการสัมภาษณ์แทน ซึ่งขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแต่ละจังหวัด

ใน 2 แบบนี่จะไม่ได้เจอกันในรอบแรกเลยนะครับ ต่างคนต่างอยู่ เอ็งมายังไงก็มาทางงั้น แม้แต่การคัดรอบ 2 ก็ไม่ต้องมาแข่งกัน เพราะเขามีโควต้าให้ทั้ง 2 แบบได้ผ่านการคัดเลือกมาในสัดส่วนที่เท่ากันครับ

---------------------------------




แต่เวลาสมัคร ต้องเลือกแค่แบบเดียวนะครับ! ถ้าเล่นเหมาทั้งสองแบบ(จริงๆก็แอบอยากทำ ถ้าเขาให้ทำ) เขาจะตัดสิทธิ์เราทันทีครับ ดังนั้นเลือกดีๆ ในใบสมัครก็จะมีคำถามเกี่ยวกับโครงการเช่น คิดว่าโครงการนี้จะให้อะไรกับเรา หรือ เราจะทำอะไรแก่อาเซียนได้บ้าง ก็ตอบดีๆเพราะมันอาจจะมีผลต่อการสอบสัมภาษณ์ในอนาคต ตรงนี้ก็จะมีเทคนิกการสมัครให้กับแต่ละประเภท ตามนี้ครับ


1. เยาวชนทั่วไป - เหมาะกับผู้ที่มีพื้นฐานภาษาอังกฤษดีในระดับปานกลางถึงดีมาก เพราะจะต้อเจอกับข้อสอบภาษาอังกฤษ (ทั้งหมด)

สอบข้อเขียนจะใช้เวลาสอบทั้งหมด 3 ชั่วโมง แบ่งเป็น 4 Part คือ
ขอบคุณพี่ชาร์ลีแมนน สำหรับข้อมูลนะเอย! (ไปมารุ่นเดียวกันครับ)

1. Structure/Grammar (20 คะแนน)
2. Reading Comprehension (20 คะแนน)
3. Translation แปลบทความจากอังกฤษเป็นไทย (30 คะแนน)
4. Essay หรือ เรียงความ (30 คะแนน)

Part 1,2 จะออกอารมณ์คล้ายๆ TOEFL / IELT ครับ Structure + Grammar จะเป็นการเติมคำ ขณะที่ Part 2 Reading จะเป็นการอ่านเน้นทำความเข้าใจ และมีคำตอบให้เลือก ซึ่งจากที่ดูมา ไม่ได้ยากถึงขั้น TOEFL และ IELT แต่ก็ต้องเตรียมมาดีๆครับ

Part 3 อันนี้ปราบเซียนเลยทีเดียว เพราะเราจะต้องแปลบทความ ซึ่งส่วนมากจะต้องแปลข่าว(อาจจะเกี่ยวกับอาเซียนด้วย) จากภาษาอังกฤษ มาเป็นไทย ซึ่งอาจจะยากตรงการที่มันมีศัพท์เฉพาะเยอะๆ ดังนั้นก็ถ้าอยากผ่านฉลุย เราต้องลองอ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์ต่างประเทศไว้ก็ดี หรือต้องเดาละครับ อย่างน้อยการแปลอาจจะไม่ต้องเป๊ะเว่อร์ แต่ขอให้จับใจความสำคัญของเนื้อข่าว และเรียงมาให้ถูกต้อง การใช้ภาษาก็สำคัญเช่นกัน

Part 4 Essay - คล้ายๆกับการสอบอัตนัย แต่ก็ต้องตอบเป็นภาษาอังกฤษครับ ตรงนี้เขาจะมีหัวข้อเลือกให้เราเลือกที่จะเขียนอภิปราย ไม่รู้ละ อาจจะเป็นหัวข้อ ASEAN / เสื้อเหลืองเสื้อแดง / พระราชกรณียกิจในหลวง / ไข้หวัดนกหวัดหมู ซาร์ส์ อะไร ก็ต้องเรียบลำดับ และเขียนให้ชัดเจน... ไม่ใช่ยาวเอา แต่ไม่มีเนื้อหาครับ

เวลาทำข้อเขียนเหล่านี้ก็ต้องตั้งสติกันนิดนึง และรอบคอบ อย่างไรก็ตามก็ขอให้ใช้ความรู้ที่มามาเขียนบรรยาย และตอบให้ได้ครับ





2. เยาวชนตัวแทนจังหวัด - รูปแบบของตัวแทนจังหวัดจะเป็นการเปิดโอกาสให้เยาวชนที่อาจจะไม่ถนัดภาษาอังกฤษระดับสูงมาเข้าร่วมโครงการ ทำให้ใน 28 คนมีความหลากหลายมากขึ้น ดังนั้น ถ้าไม่มั่นใจว่าจะทำข้อเขียนได้ ก็สามารถสมัครในรูปแบบนี้ครับ แต่สิ่งที่เราต้องเข้าใจคือ บางจังหวัดเขาอาจจะให้เราสอบข้อเขียนเช่นกันนะ(เช่น เชียงใหม่) บางจังหวัดอาจจะมีการสอบสัมภาษณ์ หรือบางจังหวัด ก็อาจจะไม่ทำอะไรเลย! (อันนี้ดีที่สุด) แต่สุดท้าย แต่ละจังหวัด จะคัดเลือกเยาวชนมาให้เหลือจังหวัดละ 5 คน เพื่อส่งเป็นตัวแทนจังหวัดมาแข่งกันในรอบสุดท้าย คือการสัมภาษณ์(สำหรับการสัมภาษณ์ระดับจังหวัด สามารถอ่านได้จากการสอบสัมภาษณ์รอบ 2 ได้เลยครับ เพราะรูปแบบเมือนกัน)




รอบ 2 !! สอบสัมภาษณ์

เช่นเดียวกับ AFS ที่การสอบคัดเลือกต่างๆ ย่อมมาวัดกันที่การสอบสัมภาษณ์ เพราะในรอบแรก กรรมการที่เป็นผู้ตรวจคะแนน อาจจะเห็นว่าเพื่อนๆที่ผ่านรอบแรกมา มีคุณสมบัติด้านภาษา หรือมีความรู้และความสามารถที่ทำให้เราสามารถเข้าเกณฑ์แล้วในระดับหนึ่ง

การสอบสัมภาษณ์รอบนี้ ก็เรียกว่าเป็นการมาให้กรรมการเห็นหน้าค่าตา ว่าหน้าตาสวยหล่อพอที่จะไปหรือเปล่าหว่า... ไม่ใช่! เขาจะมาดูว่าเรามีคุณสมบัติพอที่จะไปร่วมโครงการหรือไม่ หัวใจสำคัญไม่ใช่ว่าเราจะต้องพูดภาษาอังกฤษเก่งโคตรรร หรือ มีพรสวรรค์เก่งมาจากชาติที่แล้วถึงจะได้ไปโครงการเรือ ไม่ใช่ ไม่ใช่ และไม่ใช่ครับ ใครมาขู่ว่าเอ็งต้องยังงี้ยังงั้นนี่ด่ากลับได้เลย เพราะ สิ่งที่เขาต้องการสำหรับเยาวชนที่จะได้ไปโครงการเรือคือคนที่มีทัศนคติมุมมองที่ดี เข้ากับคนอื่นได้ และไม่ไปทำให้ใครเขาเดือดร้อน ง่ายๆแค่นี้เองครับ เขาอยากได้คนที่เหมาะแก่การไป เหมือนคัดเลือก AF เลย อันนี้ไม่ได้พูดเล่นๆนะ แต่ AF เองก็ไม่ได้คัดคนที่ร้องเพลงตัวแม่พ่นไฟมาหมดทุกคน แต่เขาเลือกคนที่สามารถ พัฒนาต่อได้ หรือมีอะไรบางอย่างที่จะสร้างสรรค์สิ่งดีๆแก่คณะเยาวชน 28 คนของประเทศไทย

Q : แล้วเราต้องทำอย่างไร เตรียมตัวยังไงสำหรับการสอบสัมภาษณ์?
A : ทั้งสองประเภทเลยครับ ทั้งเยาวชนทั่วไป และผู้แทนจังหวัด ตอนนี้เราจะเท่าเทียมกันแล้ว ทั้งสองประเภท จะถูกคัดจาก 200 คน เหลือ อย่างละ 14 คน(เพศชายหญิง มักจะมีสัดส่วนเท่ากัน) ก็คือ ส่วนกลาง 14 คน / ตัวแทนจังหวัด 14 คน

ห้องสอบ

ห้องสอบ จะอยู่ที่ สท. ชั้น 3 (สท. อยู่ใน โปรดหาเองนะจ๊ะ) โดยที่ห้องสอบจะมี 2 ห้อง แบ่งชัดเจน ห้องหนึ่งสำหรับเยาวชนทั่วไป และอีกห้องสำหรับ ผู้แทนจังหวัด ในวันนั้น อาจจะได้เห็นทั้งคนแจ่งชุดนักศึกษา ชุดสูท หรือชุดนางรำมโนราห์ - -' นี่ถ้าใครใ่ส่ชุดหลินปิงมาคงจะเป็นปรากฎการณ์ใหม่เลยทีเดียว แต่นั่นละครับ อยากจะ Present ตัวเองอย่างไร นี่เป็นโอกาส แต่ต้องเป็นเหตุเป็นผล

หัวข้อการสัมภาษณ์ สิ่งที่จะเกิดขึ้นในห้องสอบ

การสัมภาษณ์ ก็ยังคงความคล้ายแก่การสัมภาษณ์ทั่วๆไป ก็คือต้องมีการ แนะนำตัวเอง "เป็นภาษาอังกฤษ" ดังนั้นก็ต้องคิดดีๆว่าเราจะ present อะไรที่เป็นตัวเรา จะพูดคล่องอยู่แล้ว ชั้นแนะนำตัวบ่อย หรือจะฝึกพูดท่องหน้ากระจกเช้าเย็นหลังอาหาร ก็ตามใจครับ แต่ขอให้เราต้องเป็นธรรมชาติ ชื่อ นามสกุล อายุ ปัจจุบันทำอะไร เรียนอะไร ที่ไหน ทำงานอะไร ชอบเลี้ยงหมาเลี้ยงแมว ก็ว่าไปครับ การแนะนำตัวนี่สำคัญเลยเพราะจะเป็น First Impression แก่กรรมการ

ลืมบอกเลย กรรมการในห้องจะมีประมาณ 5-6 คน มักจักเป็นที่เล่าขานกันว่าบางคนนี่ก็โหดเหลือเกิน บางคนนี่ก็ใจดีมาก แต่ที่อยากบอกก็คือ ทั้งหมดนี้ เป็นการวัดใจเราเท่านั้นเองว่าเราจะมีการตอบสนอง(ฟังดูเหมือนชักกะตุก) ยังไง คล้ายๆกัน ถ้าเขาถามหน้าบึ้งมาแล้วเราห่อเหี่ยว โอ้ยยย ฉันจะทำไง เขาหน้าบึ้ง เขาไม่เอากรูแน่.... อย่าไปยอมแพ้ครับ ยิ้มไว้ บางทีท่านกรรมการอาจจะฟอร์มหลุดก็ได้!

- การมีแฟ้มสะสมงาน(Port Folio) ก็อาจจะเป็นตัวช่วยเล็กๆที่สามารถทำให้คณะกรรมการ ได้รู้จักเรามากขึ้น เราอาจจะยื่นแฟ้มนี้ให้ท่านด้วยตัวเองตั้งแต่เริ่ม หรือหาจังหวะที่ดี ส่งให้ท่าน มันจะเป็นการทำให้กรรมการได้รู้จักเรามากขึ้นในเวลา 10-20 นาทีของการสัมภาษณ์

- บุคลิก ท่าทาง การนั่ง สีหน้า เป็นสิ่งรองๆ แต่สำคัญ ในการสร้างความน่าเชื่อถือ สถานที่ๆสัมภาษณ์จะเป็นห้องประชุม เราอาจจะต้องนั่งเผชิญหน้ากับกรรมการ ดังนั้น เราต้องมีความมั่นใจ นั่งหลังตรง ยิ้มไว้ครับ แต่ไม่ใช่เอ็งจะยิ้มจนไม่ได้พูดนะเฟ้ย

- สติ... สำคัญกว่าสิ่งอื่นใด การที่เราตื่นเต้นนี่เป็นปกติเพราะใครๆก็ตื่นเต้นเหมือนกัน บางทีคนก่อนหน้าเรานี่มันเข้าไปในห้องสัมภาษณ์ นานมากกก ก็จิตตก เขาออกมาเล่าฉอดๆๆว่าเจออะไรมาก็ยิ่งก็จิตตกเข้าไปใหญ่ สิ่งที่ต้องคุมให้ได้ก็คือสติครับ ค่อยๆคิด อย่าปล่อยให้ปากเผลอพูดๆๆไปจนลืมว่าเราจะพูดอะไร และแก่นของมันคืออะไร

- การวางตัว... ใช้ได้เสมอ ทั้งในห้องสัมภาษณ์ ไปจนถึงตอนอยู่บนเรือ ถ้าวางตัวดี ก็สร้างความประทับใจ ทั้งหมดมาจากข้อข้างบนรวมๆกันนี่แหละครับ เราต้องอยู่ในความพอดี บนฐานของตัวตนของตัวเอง เราต้องงัดจุดเด่นของเราออกมา ขณะเดียวกันก็อย่าเวอร์ อย่าโม้มาก และก็ไม่หนิมๆจนเป็นใบ้ อุ้ย เขิล ไม่เอา! ต้องอยู่พอดีๆครับ


สิ่งที่ท่านกรรมการจะถาม...

บอกได้ 108 ครับ เป็นไปได้ทุกอย่าง เขาเลือกจะถามอะไรก็ถามได้หมดครับ จริงๆเขาอาจจะให้ร้องเพลง ให้ทำอะไรแปลกๆก็ได้ อย่างผมยังโดนถามเรื่องคลิป Wondergay(ที่เด็กชุดเขียวเต้นๆๆเพลง Nobody จนดังไปทั่วน่ะครับ) ซึ่งผิดคาดมากกับสิ่งที่เตรียมมา - -' ส่วนเพื่อนอีกคนโดนให้เต้นเพลง Nobody ก็ไม่ทราบว่าปีนั้นกรรมการชอบอะไรกับเพลง Nobody นัก แต่ก็ดีครับ น่ารักดี ^3^

แต่สิ่งที่เป็นคำถาม ยอด ฮิต เลย ก็จะเป็นตามนี้ครับ

- ข่าวสารบ้านเมือง ---> สำคัญที่สุด มีโอกาสโดนเยอะ เป็นหน้าที่ของเพื่อนๆเลยที่จะต้องไปศึกษาข่าวในรอบ 2-3 เดือนนี้มา(หรือมากกว่ายิ่งดี) ตรงนี้ใครที่ดูข่าวเป็นประจำจะได้เปรียบ สิ่งที่เขาถาม มักจะถามมุมมองของเรากับข่าว อย่างปีผมที่ผมโดนถาม(ปี 2552) ก็จะมีเรื่องข่าวน้องเคอิโงะ ว่าคิดยังไงกับเรื่องนี้ และยังมีเรื่อง คิดอย่างไรกับข่าวหลินปิง ที่ประโคมมาเยอะมาก(ช่วงนั้นมาทุกวันเพราะน้องแกพึ่งเกิด) และมีเรื่องของ "เขาพระวิหาร" ว่าถ้าเราเป็นผู้บริหารประเทศ จะลองแก้ไขปัญหาอย่างไร ขาดไม่ได้เลยคือเรื่องการเมือง เสื้อเหลืองเสื้อแดง ตอนนี้มีหลากสีอีก เขาอาจจะอยากรู้ว่าคุณคิดยังไง จะทำอย่างไรให้บ้านเมืองปรองดองกัน และจะมีส่วนในการสร้างประเทศให้เจริญอย่างไร?

อันนี้มันจะละเอียดอ่อนมาก สำหรับใครที่เป็นนักพูดอยู่แล้วน่าจะไม่มีปัญหา แต่สำหรับผม ผมต้องใช้เวลาประมาณ 1 อาทิตย์ลองเขียนเลยว่า ถ้าเขาถามมาแบบนี้ จะตอบแบบไหนที่จะดีที่สุด ลิสท์คำถามเกี่ยวกับข่าวสารมาโดยคร่าวๆ บางทีอาจจะไม่ต้องทำแบบผมก็ได้ครับ แต่ถ้าทำก็จะดีเพราะ จะทำให้เราได้ไอเดียเกี่ยวกับข่าวนั้น แต่ไม่ใช่ว่าเราจะท่องจำเข้าไปนะครับ อย่าท่องจำ การตอบคำถามเรื่องมุมมอง เราต้องเป็นตัวของตัวเอง

- ถามเรื่องเกี่ยวกับความรู้รอบตัว ----> สำคัญไม่แพ้ข่าวสาร เขาอาจจะถามเรื่องเกี่ยวกับ อาเซียน และ ญี่ปุ่น ว่าอาเซียนมีประเทศอะไรบ้าง และอาเซียนจะกลายเป็นประชาคมรวมกันเมื่อไหร่?.... หรือ พม่ามีเมืองหลวงใหม่ ชื่ออะไร โอยย สารพัดครับ ดีไม่ดีอาจจะโดนถามเกี่ยวกับโครงการเรืออีก สำหรับเพื่อนๆที่ยังไม่ได้ไป อาจจะงงว่าถามทำไม ก็ยังไม่ได้ไป แต่อันที่จริง เขาอาจจะไม่ได้ต้องการให้เราตอบถูกแป๊ะ แต่อยากรู้เฉยๆ ดังนั้นเราก็ต้องทำให้ดีที่สุดครับ เช่นเดียวกับความรู้รอบตัว บางทีถ้ารู้อยู่แล้วก็โชคดีไป แต่ถ้าไม่รู้ มีแค่สองอย่างคือมั่ว หรือ ยอมรับไปซะดีๆว่าไม่ทราบ แต่ก่อนจะตอบแบบนี้ขอให้แน่ใจก่อนว่าพยายามเต็มที่แล้ว และตอบเขาดีๆนะครับ

- คำถามเกี่ยวกับที่มาที่ไปของเรา -----> เช่น... ทำไมถึงอยากไปโครงการเรือ? ใครแนะนำ? ที่เรียน ที่ทำงานของเราเป็นอย่างไร? อาจจะเป็นการแนะนำตัวเองอีกแบบ

- ถามทัศนคติ หรือการแก้ไขสถานการณ์ -----> ส่วนนี้แนะนำว่า แค่ใจเย็นๆ ฟัง คิด แล้วค่อยตอบ ทุกอย่างจะง่ายขึ้นมาก กรรมการแค่อยากจะรู้ว่า ถ้าเราอยู่ในเหตุการณ์แบบนี้นี้นี้นี้ จะแก้ไขแบบไหน???? เช่น... ถ้าเราสื่อสารกับเพื่อนต่างชาติไม่ได้ จะทำแบบไหน หรือ ถ้าเราเกิดมีปัญหากับเพื่อนบนเรือล่ะ? จะแก้ไขยังไง หรือเราอาจจะโดนว่า "ถ้าปีนี้ไม่สอบไม่ติดโครงการเรือ จะเป็นยังไง?" ทั้งหมดนี้เป็นไหวพริบที่เพื่อนๆต้องลองใช้จินตนาการ คิดไว้ล่วงหน้า หรือแก้ไขปัญหาตอบตรงนั้น ใช้อิสระตามที่ตัวเองมอง แต่ไตร่ตรองดีๆ เพราะกรรมการคงไ่ม่น่าจะอยากให้เราตอบว่า "ถ้าสื่อสารไม่ได้ก็พยายามหลบออกไป" หรือ "ถ้าสอบไม่ติดคงจะเสียใจมาก" ใช่ไหมครับ ดังนั้น คิดคำตอบมาดีๆ

- ความสามารถพิเศษ -----> จะมีคะแนนในส่วนนี้ด้วย ความสามารถพิเศษ จะเป็น "ช่วงพิเศษ" ที่เราจะแสดงความสามารถที่มีอยู่ จะทำอะไรก็เชิญครับ ร้องรำทำเพลง หิ้วขลุ่ย หิ้วขิม จะเข้ เปียโน แซ็ก คลาริเน็ต โอโบ ไวโอลิน รำไทย รำโขน ปักขนนก กินรีสีรุ้ง โอยยย แต่ละปีมีมาทุกเวอร์ชั่น ทำเอารัชดาลัยเธียเตอร์อายเลยทีเดียว แต่ทั้งนี้ก็แนะนำว่า เตรียมมาดีๆ อาจจะแฝงความเป็นไทยไว้ด้วยก็จะดี(อย่างผมหิ้วเปียโนไปเล่น ก็เลือกเล่นเพลงพระราชนิพนธ์) อย่าตื่นเต้นมาก คุณอาจจะถนัดศิลป์ หรือ วิทย์ หรือ วาทะ หรืออะไร งัดออกมาครับ เพื่อนผมอีกคนที่ติดเข้าไปรำมวย อีกคนนั่งวาดภาพเหมือนหน้ากรรมการเพราะมันเรียนศิลปกร บางคนเป็น PR. เอา Powerpoint ไป Present ดังนั้น ความสามารถพิเศษ คืออะไรก็ได้ที่เราสบายใจที่จะทำครับ

ส่วนถ้ากรรมการจะถามอะไรอย่างอื่นก็ต้องไปลองเดาใจดูน้า



โดยปกติแล้วคนนึงจะใช้เวลา 10-20 นาที บางคนอาจจะหนักหน่อย 30 นาที แต่อยากบอกว่า เวลา และความยาวในการสัมภาษณ์ไม่ได้เป็นตัววัดเลยว่าจะติดหรือไม่ติด บางคนคุยแป๊ปเดี่ยวก็รู้ละว่าคนนี้ใช่ บางคนคุยนานเพราะถูกคอ หรืออย่างไรก็ตาม ผมคิดว่ามันไม่ใช่ส่วนหลักๆที่จะทำให้เพื่อนๆเก็บมานั่งคิด มันอยู่ที่ว่า ในเวลาจำกัดที่เราได้มาเนี่ย จะจัดการอย่างไรให้กรรมการได้รู้จักเรา รู้ความสามารถเรา และเราได้แสดงมุมมอง ความรู้แก่กรรมการได้อย่างเต็มที่ที่สุด

Port Folio เองก็เป็นแค่ตัวช่วย หากเพื่อนๆไม่มีก็ไม่ได้ว่าอะไรเลย เพราะเขาก็ไม่ได้ขอให้เอามา จริงมั้ยครับ? ไม่เป็นไรเลย ไม่ต้องเครียดว่าทำไมคนอื่นมีแต่เราไม่มี ไม่ต้อง! มีเท่าไหร่ เอามาเท่านั้น บางคนขนมาตั้งแต่ประกาศนียบัตรสมัยประถม ยันใบทำงาน แต่นี่ก็ไม่ใช่เรื่องผิดนะครับ :)

การตอบคำถาม ไม่ได้จำเป็นว่าจะต้องตอบเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด อยู่ที่ตัวเรา ว่ารู้ตัวดีหรือไม่ว่าจะตอบภาษาอังกฤษได้ไหม ห้องเยาวชนทั่วไป อาจจะตอบเป็นภาษาอังกฤษหมดได้ ขณะที่ห้องผู้แทนจังหวัด อาจจะตอบได้ยาก ผมไม่ได้บอกว่าห้องตัวแทนจังหวัดไม่เก่งภาษาอังกฤษนะ(ในฐานะที่ผมเอง ก็มาจากตัวแทนจังหวัดครับ) แต่หากเรารู้ว่าเราตอบเป็นภาษาไทยได้ดีกว่า ก็จงเชื่อมั่นในสิ่งที่เราคิด และตอบเป็นภาษาไทยได้ ไม่ผิดนะครับ คุณสามารถ "ขอ" ตอบเป็นภาษาไทยได้ ถ้าพูดดีๆ ผมเองก็เคยพูดขอกรรมการตอบเป็นภาษาไทย ไม่ว่าจะตอนสอบ AFS หรือ SSEAYP ก็ตาม ทำสิ่งที่เรามั่นใจที่สุดครับ


สรุปเลยว่า สิ่งสำคัญที่ต้องรู้สำหรับการสัมภาษณ์

1. สติ
2. ข่าวสาร ความรู้รอบตัว
3. บุคลิกภาพ
4. ความสามารถพิเศษ
5. มุมมอง ทัศนะคติ และการให้เหตุผล
6. การวางตัว
7. การนำเสนอตัวเอง



อย่างที่บอกครับ ในห้องสัมภาษณ์ ไม่มีสิ่งที่ถูกผิด แต่เป็นที่ๆเรากับกรรมการจะได้ตอบคำถาม พูดคุย ทำให้รู้จักตัวเรามากขึ้น สิ่งที่เขาต้องการไม่ใช่คนเก่ง หรือคนที่ Perfect แต่เขาต้องการคนที่เหมาะแก่การไปโครงการเรือฯ หากปีนี้ไม่ใช่ปีของเรา ก็ไม่ต้องเสียใจ เพื่อนๆสามารถสมัครใหม่ได้ทุกปี เขารับตั้งแต่ช่วงอายุ 18-30 ปีเลยล่ะครับ

สุดท้าย และท้ายสุดสำหรับการคัดเลือก ก็คือ กลุ่มเยาวชนทั่วไป กับ ตัวแทนจังหวัด กลุ่มที่ผ่านการคัดเลือกมากลุ่มละ 14 คน ก็จะมาเจอกันเสียที รวมเป็น "TPY" ( Thai Participating Youth ) 28 คน สำหรับ 28 คนนี้ ผมก็อยากแสดงความยินดีแก่ TPY หน้าใหม่ๆทุกๆปีว่า เพื่อนๆจะได้พับกับประสบการณ์ล้ำค่าครั้งหนึ่งในชีวิต ระยะเวลาอาจจะดูสั้นเพียงสองเดือน แต่เชื่อเถอะครับ ถ้ามันเป็น 2 เดือน มันก็คงจะเป็น 2 เดือนที่ดีที่สุดในชีวิต ซึ่งมันจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ไว้จะมาเล่าให้ฟังนะครับ แต่การเดินทางของ SSEAYP นั้นไม่ได้มีแค่ 2 เดือน แต่ก่อนหน้าที่คุณจะได้ก้าวเข้าสู่เรือ Fuji Maru เพื่อนๆจะได้รู้จักเพื่อน 28 คน ที่จะต้องร่วมทุกข์ ร่วมสุขด้วยกัน ด้วยงานที่ต้องทำ สิ่งที่ต้องเตรียม จะบีบบังคับให้คุณต้องมาสนิทกันโดยไม่รู้ตัว เผลออีกทีคุณกลายเป็นพี่น้องครอบครัวเดียวกัน และต้องขึ้นไป "ลงเรือลำเดียวกัน" นี่จะเป็นโอกาสพิเศษที่จะทำให้คุณได้มีโอกาสสักครั้งในชีวิต ที่เปิดโลกที่กว้าง รู้จักคนมากขึ้น


บางคนอาจจะมีมุมมองของการ "แลกเปลี่ยน" ไกลมาก จนเลือกที่จะไปแค่ อเมริกา ประเทศยุโรป ไปญี่ปุ่น ไปจีน แต่ในบางครั้ง เราอาจจะลืมไปในความที่เราเป็น"เอเชีย" ลืมไปว่าประเทศเทศเพื่อนบ้านของเราเป็นอย่างไร ลืมไปที่จะเข้าใจเขามากขึ้น เราอาจจะไม่รู้จักประเทศเราดีพอก็ได้ นี่เป็นโอกาสที่เราจะได้รู้จักประเทศใกล้ๆบ้านเรานี่แหละ แต่ความใกล้นี่แหละ จะทำให้เรามองไกล และได้เพื่อนต่างชาติที่จะมีความคล้ายกับคนไทย และมิตรภาพเหล่านี้ จะอยู่อีกนานเท่านาน

SSEAYP คือทุกสิ่งทุกอย่างที่ให้ได้กับประสบการณ์อันล้ำค่านี้ หากใครที่ได้ยินเกี่ยวกับโครงการนี้ ลองมาสมัครเถอะครับ คุณคิดถูกแล้วที่เลือกลองมาสมัครโครงการเรือฯ เพราะนี่เป็นครั้งหนึ่งในชีวิตที่ไม่มีวันลืม





จาก TPY'36




โครงการเยาวชนนักเรียนแลกเปลี่ยน AFS, ทุกเรื่องราวเกี่ยวกับAFS ภาค 3

อะ ต่อที่ภาคสุดท้าย อันนี้เราจะมาพูดถึงน้องๆที่ได้เริ่มเดินทางไปกับ AFS ไปจนกลับมาแล้ว ไม่ว่าน้องจะได้เดินทางไปยังประเทศไหน แต่พี่หวังว่าบทความนี้จะเป็นการเสนอไอเดียเป็นแนวทางให้น้องๆได้ปรับตัว และใช้ชีวิตที่นั่นอย่างมีความสุขนะครับ

การปรับตัวเริ่มแรก..


เมื่อเราไปถึง หรือก่อนเดินทาง เราต้องนึกแล้วว่า เราต้องจากบ้าน จากคุณพ่อคุณแม่มาใช้ชีวิตอยู่คนเดียว อาจจะเป็นซักแห่งในโลก คุณจะต้องปรับตัวเข้ากับที่นั่นให้ได้ ทั้งเรื่องของสภาพอากาศ เรื่องของการปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมต่างชาติ ไม่ว่าจะภาษา การเข้าเรียน การปรับเข้ากับเพื่อนๆ เราต้องมีเพื่อนครับ

แต่ไม่ใช่ว่า หากเราไปเจอเพื่อนคนไทยด้วยกัน ซึ่งโอกาสมันมีได้ครับ แนะนำเลยว่า อย่าติดกันตลอด ไม่ใช่ว่า เจอเพื่อนคนไทยด้วยกัน ชั้นจะอยู่กับคนนี้ เราช่วยเหลือกัน ... มันไม่ใช่ครับ ถ้าเราอยู่ด้วยกันแบบนั้น มันจะไม่ได้อะไรเลย เราต้องลุยสิครับ หาเพื่อนต่างชาติต่างหาก เพื่อนคนไทยด้วยกัน คุยเมื่อไหร่ก็ได้ ตอนนี้เรามาแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ยังไง ลองเข้าสังคมใหม่ๆจะดีกว่าครับ อย่ามัวพึ่งแต่เพื่อนคนไทย และอย่าคุยโทรศัพท์นานเกิน ไม่ว่าจะคุยกับ คุณพ่อ คุณแม่ เขาแนะมาว่า เดือนละครั้ง 2 ครั้ง ก็ พอแล้ว หากคุยมากกว่านั้น เราอาจจะปรับตัวไม่ได้ครับ แล้วอย่าลืม ค่าโทรศัพท์ของ Host Family - -'

ทางที่ดีที่สุดในการมีเพื่อนคือ ทำกิจกรรม หากเราได้ทำกิจกรรมที่เราชอบ เช่น การเล่นกีฬา ชมรมนั้น ชมรมนี้ แล้วได้ทำงานในสิ่งที่ตัวเองชอบ และเพื่อนๆคนอื่นก็ชอบ ยังไง เราก็ย่อมจะได้เพื่อนแน่นอน และอย่าลืม เรา ต้องปรับตัวเข้าหาเขา ไม่ใช่ให้เขา ปรับตัวเข้าหาเรา และเราก็ต้องช่างคุยหน่อยนะครับ อย่าหมกตัวอยู่ในห้อง MSN อะไรนี่ ต้องตัดทิ้งไปเลย(จากคำแนะนำของพี่ๆ) เพราะถ้าเรามัวหมกอยู่กับตัวเอง ก็อาจจะทำให้ไม่ได้อะไรเท่าไหร่น่ะครับ เราก็สามารถช่วย Host ทำงานบ้านก็ได้ ช่วยทำอาหาร ยังไง ก็พยายามเข้าไปคุย และ ต้องเป็นคนที่มีวินัยในตนเอง ตรงต่อเวลา และห้ามพูดโกหก หัดเป็นคนซื่อสัตย์เอาไว้ หากชาวต่างชาติจับเราเรื่องโกหกได้ เรื่องใหญ่นะจะบอกให้ อาจจะถึงขั้น เลิกเชื่อถือ หากมีอะไร เราพูดตามตรงครับ ผิดคือผิดครับ ยิ่งถ้าชาวต่างชาติ คือ ฝรั่ง ยิ่งง่าย เพราะ ฝรั่งนั้น โกรธง่ายหายเร็ว และพูดตรงมาก คนไทยนี่พูดอ้อมเป็นยากันยุงเลยครับ-*- ถ้าฝรั่งเขาไม่ชอบอะไร เขาก็จะบอกเราตรงๆ แล้วทำความเข้าใจ แล้วก็คือหายกันครับ ดังนั้นถ้าเขาไม่ได้พูดอะไรก็คือดีแล้ว (ถ้าเป็นคนไทยก็คงคิดว่าอาจจะงอนใช่มะ 5555+)

ยังไง เราก็ยังมีคุณพ่อคุณแม่คอยให้กำลังใจครับ เรามาถึงจุดนี้ พ่อแม่ของคุณ ต้องภูมิใจแน่นอนครับ ดังนั้น อย่าทำให้ท่านผิดหวังนะ^^


จากประสบการณ์ของหลายๆคน สรุปว่าเราจะใช้เวลาในการปรับตัวเฉลี่ย 3 เดือนครับ มันก็คงเริ่มจากความเหงา เดียวดายไม่มีเพื่อนทุกคน มีทั้งน้ำตา ความโอดครวญ ความสับสน แล้วเราก็จะหลีกตัวออกมาสักพัก เพราะทั้งในโรงเรียนก็ฟังที่เขาพูดไม่รู้เรื่อง การบ้านก็ทำไม่ได้ เพื่อนก็ไม่มี ดีไม่ดีโดนดูถูกอีก คิดถึงบ้าน คิดถึงเพื่อน บางคนกังวลว่าทำไมเราปรับตัวช้ากว่าคนอื่น เรามีจุดด้อยหรือเปล่า กังวลได้ครับ แต่อย่าคิดซะจนมันพาเราออกห่างจากสังคมเข้าไปอีก

หลังจากที่เราผ่านอะไรพวกนี้แล้ว พอเราเริ่มหยุดคิด และตั้งหลักใหม่ ก๋จะเริ่มขอความช่วยเหลือจากครอบครัวอุปถัมภ์ เพราะเขาจะเป็นคนที่เข้าใจเราดีที่สุดแล้ว จากนั้นเราก็จะเริ่มหันไปคุยกับเพื่อนที่โรงเรียน มันก็อาจจะเริ่มจากคุยสองสามคำ ยิ้มอายๆแล้วเดินหนี แล้วก็เริ่มถามทุกข์สุข ยิ้มอายๆ(แล้วก็เดินหนีอีก555) พอเราคุยบ่อยๆมันก็จะเริ่มมีเรื่องให้คุยมากขึ้น มันอาจจะเริ่มจากอะไรพิกลๆแบบเรื่องดิน ฟ้า อากาศ ก็ได้นะ สุดท้ายมันก็จะค่อยๆเข้าใจกันเองเพราะเราเป็นวัยรุ่นเหมือนกันน่ะครับ พอมีเพื่อน เขาก็สามารถให้ความช่วยเหลือเราได้ ทั้งด้านภาษา วัฒนธรรม

ข้อดีจริงๆเลยที่เรามีเพื่อนไว้ช่วยเหลือ มันจะทำให้เขาได้รู้จักเรามากขึ้น มันก็จะทำให้เขาเริ่มปรับตัวเข้าหาเราในฐานะ "เพื่อนใหม่"

เราก็จะได้รู้จักกับเพื่อนคนอื่นๆ ยิ่งเราได้ทำกิจกรรม เราก็จะได้พบกับเพื่อนมากขึ้นเท่านั้น แค่รอยยิ้มของคนไทยอย่างพวกเราก็สามารถซื้อใจคนต่างชาติได้แล้ว แต่อย่าแค่ยิ้มอย่างเดียวนะโว้ย - -"


-----------------------------------------------------------------


วันเวลาผ่านไป จากความเหงาที่เราต้องเจอกัน จากกำแพงภาษา เราก็คงไม่รู้ตัวเลยว่า หลังจากเวลาผ่านไป ความเหงาก็เริ่มจะหายไป มีแต่คำว่าเพื่อนใหม่ แล้วก็เพื่อนสนิท การผจญภัยในชีวิตใหม่ก็เริ่มขึ้น เราจะได้มีครอบครัวที่ 2 ที่คอยให้ความรัก เมื่อเรามาถึงจุดนั้น ผมก็ขอแสดงความยินดีด้วยที่คุณไปถึงจุดนั้นแล้ว ทุกคนจงรู้ไว้ว่าเราจะได้ไปถึงจุดนั้นแน่นอน แต่เราจะไปถึงจุดนั้นไม่พร้อมกัน แล้วก็ไม่ใช่ว่าใครไปถึงก่อนคือผู้ชนะนะครับ แล้วก็ได้เวลาเริ่มต้นการดำรงชีวิตของคุณ ในสภาพสังคมที่แปลกใหม่ ที่จะเปลี่ยนให้คุณได้เรียนรู้อะไรอีกมาก และกลายเป็นคนที่มีคุณภาพมากขึ้น แล้วเมื่อกลับมาที่ไทยอีกครั้ง คุณคงจะเป็นคนใหม่ ที่เปี่ยมไปด้วยความคิดต่างๆนาๆ




พอเราปรับตัวได้มันก็จะมีอาการว่า "ไม่อยากกลับบ้านแล้ว"
แล้วพอใกล้จะต้องกลับจริงๆก็เริ่มคิดว่า "ไม่อยากกลับจริงๆนะ"
พอต้องจะกลับจริงๆ ก็คือ "น้ำตา และความเศร้า"

เราจะต้องแยกจากจากครอบครัวอุปถัมภ์ในที่สุด ก็อย่าลืมติดต่อเขาตลอดนะครับ โทรศัพท์ e-mail อะไรก็ตาม อย่าทิ้งกัน

พอเราจากครอบครัวอุปถัมภ์แล้วถึงเวลากลับแล้วจริงๆ ก็จะมีความรู้สึกว่า "เออออออออ กลับก็กลับละวะ"
แล้วจากความรู้สึก ....

"เหงาว่ะ อยากร้องไห้"
......... "ดีใจจังเริ่มปรับตัวได้แล้ว" ........
"สนุกจริงๆเลย ไม่อยากกลับบ้านแล้ว"
........... "เฮ้ย ต้องกลับจริงๆหรอ??" ..........
"(ร้องห่มร้องไห้)" ............." เออ กลับก็ได้วะ"

แล้วพอเราได้เห็นหน้าของครอบครัว(บางคนมีเพื่อนมารับด้วย) ก็เท่ากับว่าการเดินทางของคุณได้สิ้นสุดแล้ว ยินดีต้อนรับกลับเข้าสู่ประเทศไทย เป็นไงล่ะ ตั้ง 1 ปี ผ่านมาได้ยังไงก็ไม่รู้ เร็วกว่าที่คิดใช่มั้ยล่ะ

-----------------------------------------------------------------



หลังจากกลับมาที่ประเทศไทย ก็ต้องปรับตัวนะ

ขอเป็นบทความคร่าวๆกับเรื่องการปรับตัวกลับสู่ประเทศบ้านเกิด น้องบางคนอาจจะมองว่านี่ไม่ค่อยจำเป็นเลย เราอยู่ไทยมาสิบกว่าปี แค่หายไป 1 ปี ภาษาไทยก็อยู่ในสายเลือด กลับมาต้องปรับตัวกันด้วยหรือ? ขอตอบเลยว่า "ต้อง" ครับ มันจะต้องปรับตัวมากกว่าที่คิดไว้อีกครับเนื่องจากการที่คุณไปอยู่ในที่ๆมีวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมต่างกัน มันก็จะเปลี่ยนมุมมองการคิดของแต่ละคนไปโดยที่คุณเองอาจจะไม่รู้ตัวด้วยซ้ำไป กลับมาที่ไทยนั่นแหละ ถึงจะรู้ว่าเราเปลี่ยนไปแค่ไหน แล้วมันก็จะทำให้เรารู้สึกว่าเราเปลี่ยนไปนะ

พอกลับมาแล้ว แน่นอนว่าแต่ละคนจะมีประสบการณ์ดีๆน่าจดจำ(จนวันตาย) แล้วก็อยากที่จะเล่าให้พ่อแม่พี่น้อง เพื่อนฝูงฟัง มันไม่ใช่เรื่องผิดเลยที่เราอยากจะเล่าประสบการณ์ดีๆให้คนอื่นฟัง แต่มันก็ไม่ผิดสำหรับอีกฝ่ายเลยถ้าเขาจะไม่มีอารมณ์ร่วมกับประสบการณ์ของเรา ทำให้ดูเหมือนเขาไม่ได้สนใจเรื่องราวชีวิตของเราในต่างประเทศเสียเท่าไหร่ ก็อย่าพึ่งไปน้อยใจนะครับว่า "อะไรว๊า ทำไมไม่สนใจที่เราเล่าบ้างเลย" ก็ต้องทำความเข้าใจกันหน่อยว่า มีแค่ตัวเราคนเดียวที่เข้าใจชีวิต และได้สนุกกับชีวิตในปีที่ผ่านมา คนอื่นเขาก็ไม่เข้าใจเรา ให้ตายยังไงก็ไม่เข้าใจเท่าเรา ถ้าเราเล่ามากไป ก็จะทำให้คนมองว่าเรา "ขี้โม้" คุย"โว"

จึงขอแนะนำเลยว่าเวลาเล่าก็ขอให้เล่าแบบพอตัว ถ้าอยากจะเล่าประสบการณ์แบบจุใจกว่านี้ก็ให้ไปคุยกับเพื่อนที่ไป AFS ด้วยกัน นั่นแหละครับเราจะคุยได้อย่างสบายใจ อย่างน้อยเขาก็เข้าใจเรา เขาใจวัฒนธรรมที่ไปเจอมาด้วยกัน มันเลยทำให้เพื่อน AFS อยู่ทนอยู่นานกว่าที่คิดครับ



หลังจากที่เรากลับมา อย่างที่บอกแล้วว่าการวางตัวของเราจะเปลี่ยนไป บางคนก็จะมองว่าเราเปลี่ยนไปนะ ทำไมไม่ใช่คนเดิมที่เราเคยรู้จัก พ่อและแม่จะเข้าใจเราดังนั้นท่านคงไม่มีปัญหากับการเปลี่ยนไปมากนัก แต่ระหว่างเพื่อนที่โรงเรียน เขาอาจจะมองเราในแง่ลบ เพราะการที่เราไม่ใช่ "คนเดิม" ที่เขาเคยรู้จัก และเราก็หายไปหนึ่งปี ต่อให้คุย msn หรือโทรกลับไปหาเพื่อนบ่อยเท่าไร มันก็ยังมีกำแพงกั้นระหว่างเรากับเพื่อนได้ บางคนกลับมาก็จะต้องเหงาเหมือนถูกแยก ตรงนี้ก็ขอให้ทุกคนอดทนเอาไว้ เราจะต้องใช้เวลาปรับตัว ใช้เวลาที่กลับมาตามสังคมในโรงเรียนให้ทันว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง เพื่อนเราเองเขาก็ต้องขอเวลาในการปรับตัวเข้าหาเรา อย่าวู่วามว่าเขาทิ้งเราไปก่อนนะครับ ยังไงเพื่อนก็ไม่ทิ้งกันหรอกครับ แค่ขอเวลา อาจจะต้องมีความทุกข์และน้ำตากันบ้าง อย่าลืมว่า "อดทน"

ทีนี้มีอีกมุมมองที่อยากเล่าหลังจากที่กลับมา เพื่อนๆ AFS ของเราด้วยกันเอง อาจจะมีนิสัยที่เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง บางคนอาจจะไปดื่มเหล้าเมายา เที่ยวกลางคืนจนนิสัยไม่น่าคบ บางคนกลับมาจะดูหยิ่งยโสไม่สนใจผู้อื่น คิดแค่ว่า "ข้าไปต่างประเทศมา ได้ดื่มเหล้าสูบ เออ ข้าเจ๋งสุดแล้ว" อันนี้ก็ขอให้เขาเปิดโลกหน่อยละกันนะครับ คนไหนที่ไปมาแล้วเป็นแบบที่เราพูด ก็อยากให้คิดดีๆว่า เราไป AFS มานี่เราไปเพื่ออะไรกันแน่ คุณพ่อคุณแม่จ่ายเงินไปเพื่อให้เราไปทำอะไรแบบนั้นหรือเปล่า?

บางคนจะดูหยิ่งเพราะคิดว่า "ที่ๆข้าไป ประสบการณ์ข้ามันเจ๋งกว่าของพวกแกทุกคน เออ ข้าแน่สุด เจ๋งสุด" แบบนี้ก็ขอให้คุยกันดีๆละกันนะครับ เราไปมาคนละที่ อยู่คนละครอบครัว คนละโรงเรียน แน่นอนว่าประสบการณ์ที่ได้มามันต้องต่างกันทุกคน ไม่มีว่าของใครดีที่สุด ถ้าคิดแบบนี้ก็แนะว่าอย่าไปเลยนะครับ เราไปเพื่อให้สิ่งที่ดีที่สุดต่อตัวเอง ไม่ใช่เพื่อความเหนือผู้อื่นและศักดิศรี มันเป็นอะไรที่ดูแย่มากนะครับถ้ากลับมาแล้วเป็นแบบนี้ เราอาจจะไม่เห็น แต่คนอื่นเขาจะมองเราไม่ดีครับ ก็อย่าลืมการวางตัว แล้วก็คิดก่อนที่จะพูดด้วย



กลับเข้าสู่การศึกษาไทย(น่ายินดีมาก)

สมมุติว่าถ้ากลับมาถึงประเทศไทยแล้ว ชีวิตก็จะสับสนมากเลย ไหนจะต้องเลือกว่าจะซ้ำชั้นหรือไม่ซ้ำ บางคนมีคำตอบอยู่ในใจไว้แล้ว แต่บางคนก็มาลังเลทีหลัง อย่างผมนี่เคยบอกว่าจะซ้ำ แต่สุดท้ายตอนนี้ก็เลือกที่จะข้ามมาอยู่กับเพื่อนเอาจนได้

ทีนี้ผมจะขอพูถึงพวกที่ ซ้ำชั้น และ ข้ามชั้นแบบเท่าที่รู้นะครับ

พวกซ้ำชั้น -- กลุ่มนี้จะต้องตัดสินใจให้เด็ดเดี่ยวที่สุด หรือบางโรงเรียน จะบังคับให้ซ้ำแบบไม่มีทางเลือกเลยเพราะคุณจะต้องเจอกับเพื่อนที่เป็นรุ่นน้อง หลังจากที่ไปอยู่ในสังคมต่างชาติมาแล้ว บางคนมองว่าอยู่กับรุ่นน้องยังดูยากกว่าอยู่ต่างประเทศอีก แล้วมันก็ดูช้ำใจนะที่ดูเพื่อนๆของเราจบการศึกษาไปเข้ามหา'ลัยขณะที่เรายังแง่กอยู่ตรงนี้ ตรงนี้มันก็ขึ้นอยู่กับความคิดแต่ละคนนะครับ ถ้าเราเลือกที่จะซ้ำ ก็น่าจะเพราะว่าเราอยากเก็บความรู้ที่ยังไม่ได้เรียน อยากจะเตรียมพร้อมในการเข้ามหา'ลัย อยากจะเอาให้มันชัวร์ เพราะถ้าข้ามชั้นไปแล้วเอนท์ไม่ติด มันจะคุ้มกันหรือเปล่าล่ะ แล้วก็ยังมีบางคณะที่เขาไม่รับนักเรียนที่ไม่ได้เรียนครบ 3 ปีด้วย บางคนก็ต้องซ้ำแบบไม่มีทางเลือก โดยเฉพาะเด็กสายวิทย์ ถ้ามุ่งมั่นจะเรียนทางวิทย์ ก็ไม่ต้องคิดมากเลย "ต้องซ้ำ" ครับ แต่เรื่องเรียนกับรุ่นน้อง จะบอกว่าอย่าเอาไปเป็นปัญหานักเลยครับ เพื่อนๆผมหลายคนก็เข้ากับรุ่นน้องได้ดี ขณะที่เขาก็ไม่ลืมเพื่อนรุ่นตัวเอง มันต้องแบ่งเวลา

พวกไม่ซ้ำชั้น -- จะขอพูดยาวสักนิด ทนอ่านหน่อยบนะครับ เพราะเราคิดว่ากลุ่มนี้จะปัญหาเยอะกว่าพวกซ้ำเพราะพวกที่ซ้ำเขาก็คือตั้งต้นใหม่แล้ว
ไปตามลำดับ แต่กลุ่มนี้ ในเมื่อเราข้ามมาก็ต้องเจอกับปัญหาเยอะแยะ ..กลุ่มนี้จะมีได้สำหรับคนที่ได้ไปในช่วงระดับ ม.4 กับ ม.5 เท่านั้น ถ้าไปตอนม.6 กลับมายังไงก็ต้องซ้ำ เนื่องจากผมเป็นคนในกลุ่มนี้ ดังนั้นก็จะบอกว่ากลุ่มนี้เนี่ยกลับมาจะมีอารมณ์แปรปรวนเป็นระยะ เพราะว่านอกจากเรายังขาดพื้นฐานวิชาต่างๆที่โหว่ไปในปีที่เราไปAFS เรายังต้องมาเรียนระดับที่สูงกว่า ยากกว่า ทั้งๆที่เราไม่มีพื้นเลย แล้วมันจะทำให้เราวกกลับมาคิดว่า "เราอาจจะตัดสินใจผิดที่ข้ามชั้นมา" "ทำไมเราไม่ซ้ำชั้นล่ะ" "ชีวิตทำไมมันตกต่ำอย่างนี้ เอนท์ไม่ติดแน่กรู" อะไรประมาณนี้... แต่เมื่อมันทำให้เราคิดแบบนี้ก็แนะนำว่า แล้วทำไมถึงคิดจะข้ามมาแต่แรกล่ะครับ? เพราะว่าเราคิดว่าเราทำได้ใช่มั้ยล่ะ? อีกอย่างนะครับ การตัดสินใจนี้มันแก้ไขไม่ได้ เลือกทางนี้ก็ต้องมาทางนี้เลย รับผิดชอบการตัดสินใจของตัวเองครับ

พวกไม่ซ้ำชั้นเนี่ย จะทำให้ตัวเลือกการเลือกคณะของคุณน้อยลง แต่ก็ไม่ใช่ว่าเหลือนิดเดียว ก็แค่บางคณะที่เขาไม่รับเด็กที่มีหน่วยกิต หรือเด็กที่มีปีการศึกษาไม่ครบ 3 ปี ซึ่งก็ไม่ทราบเหมือนกันว่ามีคณะอะไรบ้างนะครับ ค้นคว้าเอาเอง แต่ขอบอกว่ามีไม่เยอะหรอกครับ วิธีคิดมันเป็นดังนี้ครับ

เพื่อนๆคนอื่นที่ไม่ได้ไปโครงการแลกเปลี่ยนเขามีเวลาการเรียน 6 เทอมครบถ้วน ดังนั้นคะแนนที่คิดก็จะหารด้วย 6 แต่พวกเราที่กลับมาแล้วข้ามชั้น มีเวลาเรียนทั้งหมดแค่ 4 เทอม จำนวนเทอมที่จะต้องหารจากเกรดทั้งหมดก็เป็นแค่ 4 ง่ายๆก็คือตัวหารของเราที่จะเอามาคิดเป็น GPA มันน้อยกว่าเพื่อนคนอื่นเพราะเวลาเราเรียนน้อยกว่า หน่วยกิตเราน้อยกว่าซึ่งมันก็แฟร์กันอยู่แล้วครับ บางคนอาจจะได้เปรียบด้วยซ้ำไปเพราะเกรดไม่ค่อยดี แต่ตัวหารน้อย มันเลยดูดีกว่าหารมากๆดีไม่ดี ถ้ากลับมาทำคะแนนได้ดี เหลือแค่โอนหน่วยกิตเพื่อให้เรามีหน่วยกิตครบ(อ่านด้านล่าง) ก็ลอยลำเลย ดังนั้น เพื่อนๆหลายคนอาจจะอิจฉาตาร้อนพวกเราด้วยซ้ำไปนะ 555

สถาบัน/ คณะที่จะรับนักเรียนที่ไป AFS โดยที่ไม่ซ้ำชั้น หรือมีหน่วยกิตไม่ครบแบบชัวร์ๆ 100% มีดังนี้ครับ

1. มหาวิทยาลัยนานาชาติทั้งหลาย เช่น จุฬาอินเตอร์ฯ, มหิดลอินเตอร์ฯ, ธรรมศาสตร์อินเตอร์ฯ, ABAC
- การสอบเข้าบางที่จะให้คุณสอบ Admission ด้วย แต่จะไม่เน้นมากเท่่าพวกที่ไม่ใช่อินเตอร์
- สำหรับใครที่ต้องการสอบเข้า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะอินเตอร์ จะต้องสอบ CU-TEP / CU-AAT / SAT / TOEFL
- สำหรับใครที่ต้องการสอบเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะอินเตอร์ หรือ SIIT(ศูนย์สิรินธร) จะต้องสอบ CU-TEP / TU-GET / SAT / TOEFL

*ใครสงสัยเรื่องข้อสอบพวกนี้ รออ่านตรงนี้ให้จบก่อนนะครับ

2. การสอบตรง --- สมัยนี้การสอบตรงเป็นที่นิยมมากขึ้นมาก แต่คุณจะต้องศึกษาเฉพาะด้านวิชามากขึ้น อย่างเช่น นิติฯ รัฐศาสตร์ แต่ถ้าสอบติดไป มันก็คุ้มนะ

3. มหาวิทยาลัยเอกชน -- ง่ายๆคือยื่นแล้วก็เข้าได้แล้วล่ะครับ

4. มหาวิทยาลัยรัชภัฎ -- เหมือนเอกชน

5. เรียนต่างประเทศ -- เอาเกรดในไทยของคุณไปใช้ประกอบกับเกรดที่เรียนในปี AFS ของคุณ อาจจะต้องไปที่กระทรวงศึกษาฯด้วย

ข้อสอบการเข้าภาคอินเตอร์

จะขอไล่ไปและอธิบายคร่าวๆนะครับว่ามีอะไรบ้าง
คำเตือน อาจจะมีตกหล่นนิดหน่อยน้า

SAT - เป็นข้อสอบที่เรียกได้ว่าเป็นข้อสอบเอนท์ของพวกเด็กอเมริกัน แต่มีแค่วิชาภาษาอังกฤษ และ คณิตศาสตร์เท่านั้น เด็กอเมริกันส่วนใหญ่ใช้การสอบ SAT เป็นการชี้ว่าจะได้เข้ามหา'ลัยไหน ชื่อเต็มๆของ SAT คือ SAT Reasoning Test เป็นการฝึกการคิดวิเคราะห์ทั้งพื้นฐานภาษา การตีความประโยค แกรมม่า การเขียน และ คณิตศาสตร์(อ้าว อย่าพึ่งหนี 555+) SAT จะใช้ในการสอบเข้าภาคอินเตอร์ และข้อสอบจะมีทั้งหมด 10 ตอน เวลาการทำข้อสอบรวมก็ 3 ชม. กว่าๆ และมีหลายๆ Part ดังนี้ครับ

* Essay - จะต้องเขียนเรียงความ ส่วนมากจะเป็นแนวๆความคิดเห็นกึ่งปรัชญา
* Critical Reading - การอ่านแบบตีความ ขอเตือนว่าศัพท์จะยากมาก
* Writing - จะเป็นความเข้าใจเรื่องศัพท์อังกฤษ แกรมม่า
* Math - เลข ซึ่งมันจะมีทั้งระดับง่ายแบบแก้สมการหมูๆ ไปจนถึงฟังก์ชัน แต่ก็เป็นแบบเบื้องต้น

SAT จะเป็นข้อสอบที่ยาก เพราะมันเป็นมาตรฐานเด็กอเมริกัน แต่สำหรับภาคอินเตอร์ในไทย เขาไม่ได้วางคะแนนไว้สูงเท่ามาตรฐานเด็กฝรั่งหรอกครับ แต่มันก็ต้องขยันอยู่ดี

การสอบ SAT จะมีให้สมัครเป็นรายเดือน ติดตามข้อมูลได้ที่เว็บนี้ >>http://www.collegeboard.com/splash/


SAT II - เท่าที่รู้ก็คือการสอบวิชาเฉพาะสำหรับคนที่จะเรียนภาคอินเตอร์สายวิทย์ หรือภาษาที่ 3 ข้อสอบจะมี ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ และภาษาที่3 เลือกสอบได้ตามสบายครับ จากที่ได้ยินมาคือไม่ยากถึงระดับวิทย์ ANET แต่ก็ประมาทไม่ได้

ติดตามที่เว็บนี้เช่นกัน >> http://www.collegeboard.com/splash/

TOEFL - เป็นข้อสอบที่ใครที่เรียนนอกต้องรู้ ส่วนมากใครจะเข้าคณะอินเตอร์จะต้องผ่านข้อสอบนี้ทั้งหมด นี่เป็นข้อสอบของประเทศอเมริกาสำหรับคนต่างชาติที่จะเข้ามาเรียนในอเมริกา ทำให้เขาชัวร์ว่า "เอ็งแน่พอที่จะมาเรียนในประเทศเรา" ข้อสอบ TOEFL จะง่ายกว่า SAT และไม่มีเลขด้วย

การสอบจะต้องทำในคอมพิวเตอร์ มีทั้ง

*Writing
*Listening
*Gramma
*Structure บลาๆๆ

CU-TEP - (บางคนเรียก CU - เทพ ลองไปสอบแล้วฟังเสียงยินดีต้อนรับก่อนสอบนะ ตลกมาก 5555) )เป็นข้อสอบภาษาอังกฤษของจุฬาฯ ใครจะเข้าภาคอินเตอร์จุฬา ต้องสอบอันนี้แน่นอน แต่ได้ยินมาว่าใครเข้าธรรมศาสตร์ก็ต้องสอบอันนี้ด้วยครับ

CU-AAT - นี่เป็นข้อสอบเลขของจุฬา และแน่นอน ใครจะเข้าภาคอินเตอร์จุฬา ต้องสอบ

TU-GET - เหมือนกับ CU-TEP แต่ว่าเปลี่ยนเป็นสำหรับธรรมศาสตร์ครับ

SMART 1 - นอกจากจะมีไว้สำหรับคณะของธรรมศาสตร์ที่เกี่ยวกับตัวเลข อย่างบัญชี / เศรษฐศาสตร์ แล้ว คณะ บัญชี / เศรษฐศาสตร์ภาคอินเตอร์ของธรรมศาสตร์ก็ต้องใช้อันนี้ด้วย

และยังมีข้อสอบอื่นๆอีกนะครับ ขึ้นอยู่กับตัวคุณล่ะว่าจะเลือกทางไหน ถ้ามาทางอินเตอร์ก็หาที่ดีๆที่เหมาะกับตัวเองละกันนะครับ เราช่วยมากกว่านี้ไม่ได้เพราะไม่ได้เข้า 555+



ทีนี้มาดูกลุ่มที่ข้ามชั้นที่ยืนยันว่า "ข้ากลับมาก็จะสอบแอดมิชชั่นเหมือนเพื่อนๆนะแหละ" กลุ่มนี้จะเจออารมณ์แปรปรวนยิ่งกว่าพวกที่จะเข้าอินเตอร์อีกครับ แต่จะบอกว่าคุณจะพบความมันส์ของชีวิต โหด มันส์ ฮา และจะภูมิใจในตัวเองโคตร ถ้าเราทำได้(คนเขียนก็อยู่กลุ่มนี้แหละครับ ตอนนี้ยังไม่รู้ผลเลย 555)

ถ้าอ่านมาคงรู้แล้วนะครับว่าเราพูดถึงนักเรียนที่กลับมาแล้วข้ามชั้นมาม.6 เลย มันหมายความว่าม.5 คุณแหว่งไปเพราะต้องไป AFS

ม.5 เป็นปีที่สำคัญเพราะเนื้อหาหลายๆอย่างมันจะอัดกันเอาไว้ขณะที่ ม.6 จะหนักแค่เทอมต้น ส่วนเทอมปลาย บางที่เขาจะผ่อนๆลงมาให้เด็กเตรียมสอบ Admission แต่ถ้าเป็นเด็ก AFS ก็จะไม่ได้ผ่อนอะไรเลยเพราะเมื่อกลับมาแล้วคุณจะต้องเจอศึกหนักกับการตามเรียนให้ทัน
ไม่ว่าจะเป็นการเรียนพิเศษเติมส่วนของ ม.5 และเรียนเพื่อเตรียม Admission และต่อไปนี้คือสิ่งที่ต้องทำครับ

1. กลับมาแล้ว จงไปที่โรงเรียนให้เขาโอนหน่วยกิตในปีที่ไป AFS มา ทำให้คุณมีหน่วยกิตเท่าเพื่อนๆที่ไทย แต่ว่าการโอนหน่วยกิตมันจะได้มาแค่ตัวเลขนะครับ กระทรวงฯ เขาไม่ยอมให้เอาเกรดมาด้วย

2. ถ้าไม่มั่นใจในความสามารถตัวเองก็จงไปหาที่เรียนพิเศษเถอะครับ จะเป็นที่ไหนก็หาไปเรียน เอาให้ได้ครบทุกวิชาได้ยิ่งดี เลือกที่เรียน และ คอร์สเรียนที่มันได้เยอะๆ เราได้เปรียบ และเสียเวลาน้อยที่สุดได้ยิ่งดี รับรองถ้าตั้งใจเรียน สู้เพื่อนที่ไม่ได้ไป AFS สบาย

3. คำขาดเลย! จง! อ่าน! หนังสือ! ตั้ง! แต่! เนิ่นๆๆๆ!!!! -- หายไป 1 ปี ทำงานหนักกว่าคนอื่น ว่างๆก็อ่านซะเถอะครับ

4. และสุดท้ายนี้ เชื่อว่าหลังจากที่กลับมาจากประเทศใดก็ตามที่คุณไปมาแล้ว เราคาดหวังว่าคุณจะมีความเป็นผู้ใหญ่และคิดเองได้อย่างมั่นใจมากขึ้นนะครับ ดังนั้น อนาคตตัวคุณ ก็ขึ้นอยู่กับคุณเอง 1 ปีนับถอยหลังสู่การสอบเข้ามหา'ลัย จัดการชีวิตด้วย"ตัวเอง" ครับ

เพื่อนมหา'ลัยของผมที่ไป AFS กลับมาข้ามชั้นแล้วเอนท์ติดทั้งๆที่เรียนไม่ครบ 3 ปีก็ผ่านเข้ามาได้ตั้งหลายคน บางคนติดจุฬาเลยด้วยซ้ำไปครับ แต่เท่าที่คุยมา ไม่มีใครเลยที่ไม่เครียด ไม่จิตตก บางคนก็ถึงขั้นร้องไห้โฮ ซึ่งยังไงก็เพื่อนๆกัน กลับมา ดูแลกันดีๆนะครับ และก็บอกได้อย่างเดียวคือเมื่อคุณเลือกมา "ทางลัด" ก็ต้องเดินอย่างระมัดระวังและมั่นคง เพราะนี่เป็นทางที่ถ้าเลือกเดินแล้วก็เปลี่ยนใจไม่ได้อีกแล้ว ต้องหนักแน่น อดทน ใจสู้เท่านั้นครับ



โปรโมชั่นพิเศษต้อนรับนักเรียน AFS : กลับเข้าสู่การฝึกนักศึกษาวิชาทหาร(รู้นะว่าดีใจ)

สำหรับน้องผู้ชาย อันนี้อาจจะเป็นข้อสุดท้ายที่อยากนึกถึงเพราะว่าหลังจากผ่านไป 1 ปีกับ AFS ผมบนหัวก็เริ่มยาวขึ้นจนไม่เรียกว่าทรงผม บางคนก็กลายเป็นทรงเกาหลีจนตาดงบังเรียกป๋า บางคนก็ไว้ยาวแบบหนุ่มมาดเซอร์ ใครจะอยากคิดว่าเราจะต้องกลับมาตัดผมเกรียนใส่เครื่องแบบ รด. โดนสั่งหมอบกันอีกแล้ว ยอมรับเสียเถอะครับ เพราะถ้าน้องไม่ได้มีเส้นสายอะไรที่ทำให้ตัวเองรอดอะไร ก็ต้องยินยอมแบบไม่มีทางเลือก เพียง 15 นาที ผมบนหัวน้องที่ไว้ยาวมาตลอดปีจะหายไปในพริบตา แต่จะคิดอะไรมาก? รับใช้ชาติครับ!! น้องต้องปรึกษากับอาจารย์ผู้กำกับนักศึกษาวิชาทหารที่โรงเรียนของน้องถ้า...

1. ถ้าวันที่น้องกลับมาจาก AFS อยู่ก่อนวันรายงานตัว นศท. ให้แจ้งกับอาจารย์ผู้กำกับเพื่อดำเนินการ แล้วทุกอย่างก็จะไปตามระบบเลยครับไม่ต้องห่วง

2. ถ้าวันที่น้องกลับมาจาก AFS เลยวันรายงานตัว นศท. ไปแล้ว พี่แนะนำว่าง่ายสุดคือให้คุณพ่อคุณแม่น้องจัดการให้(หรืออาจจะเป็นเพื่อนของน้อง ซึ่งพี่ไม่รู้ว่าครูฝึกเขาจะยอมไหมนะ) แล้วให้ท่านคุยกับอาจารย์ผู้กำกับครับ พอน้องกลับมา ทางศูนย์ฝึกเขาจะไม่ถือว่าวันน้องขาดเลยนะ(กรณีที่ถ้าน้องกลับมาจาก AFS หลังจากที่เพื่อนๆเขาเรียน รด. ไปหลายอาทิตย์แล้ว) เขาถือว่าที่เราไปน่ะ ทำประโยชน์เพื่อชาติ ดังนั้นไม่ต้องเครียดครับ ส่วนถ้าหากว่าวันที่น้องกลับจาก AFS เลยวันรายงานตัวเฉยๆ ถ้าน้องฝากพ่อแม่หรืออาจารย์จัดการเรื่องเสร็จ น้องก็แค่พักตราชั้นปีนั้นที่น้องเรียนแล้วเข้าเรียนได้ทันทีครับ


-----------------------------------------------------------------




แล้วคำแนะนำของเรา ก็หมดลงเพียงเท่านี้ครับ หากเพื่อนคนไหนที่สนใจ ก็อย่าลังเล ไปสมัครได้ เราจะเป็นกำลังใจให้ และขอให้โชคดีกับการสอบ AFS เราเขียนแนะนำมายาวเหยียดนี่ก็เพราะว่า อยากให้ทุกๆคนไปสอบจริงๆ อยากให้ทุกๆคน ได้มีโอกาส ได้พัฒนาตนเอง ได้ลองกับสิ่งใหม่ๆ ไม่รักจริง ก็คงไม่เขียนซะยาวเหยียดหรอกนะครับ ยังไง ก็ขอให้โชคดีก็แล้วกันครับ

สวัสดีครับ


และหากใครมีอะไรสงสัย ต้องการให้เราช่วยเหลือเรื่อง AFS นี้ เรายินดีช่วยเต็มที่ครับ add ได้เลย

*รบกวนน้องจะถามเรื่อง AFS แนะนำตัวและบอกด้วยน้าว่าจะถามเรื่อง AFS บางทีถามมาหลายคนพี่จำไม่ได้
หรือถ้าไม่ได้ตอบต้องขอโทษด้วยนะครับ บางทีออนแต่ไม่ได้อยู่ตรงนั้นครับ

tanba_jing@hotmail.com พร้อมยินดีช่วยเพื่อนๆเสมอครับ smile.gif

โครงการเยาวชนนักเรียนแลกเปลี่ยน AFS, ทุกเรื่องราวเกี่ยวกับAFS ภาค 2

หลังจากทำข้อสอบข้อเขียนเสร็จแล้ว ก็ลืมๆมันไป ลืมให้หมด เพราะหากคุณผ่านด่านแรกไปแล้ว ด่านที่ 2 คือ การสอบ สัมภาษณ์

จากคนทั่วประเทศ เขาจะคัดคนออกไป ซึ่งตรวจจากข้อสอบนี่แหละ สนามสอบของเรา ในตอนแรก คนสอบ ประมาณ 1000 คน พอผ่านข้อเขียน จะคัดคนเหลือ แถวๆ 700 คน และหลังจากสอบสัมภาษณ์แล้ว เมื่อประกาศ ผู้ที่ติด AFS ในสนามสอบนั้น จะเหลือ 100 กว่าคน

จาก 1000 > 700 > 100

นี่คือจำนวนคนที่เขาคัด ในสนามสอบของเรา บางแห่งคนอาจจะน้อย ก็ลองคำนวณดูได้

เมื่อประกาศผลสอบข้อเขียนแล้ว หากเพื่อนๆผ่าน ก็ดีใจได้เลย เพราะมุมมองของเรานั้น สอบสัมภาษณ์ง่ายกว่ามากๆๆๆๆๆๆๆ ขอแค่ความกล้า และความหน้าหนาของเรา ก็จะนำพาเราเข้าไปสู่ครอบครัว AFS ได้แน่นอน

หากไม่ผ่านข้อเขียน ยังไง ปีหน้ายังมี อย่างน้อย เราก็ได้ประสบการณ์แล้ว คราวหน้าเอาใหม่นะครับ

หากเราผ่านข้อเขียนแล้ว อย่าพึ่งทิ้งบัตรผู้เข้าสอบ เพราะเราอาจจะต้องใช้ตอนสอบสัมภาษณ์ แล้วเราจะได้รับเอกสารซึ่งสำคัญอย่างยิ่ง จะมีใบให้เรากรอกประวัติ ข้อมูลบางอย่างของเรา ของครอบครัว และที่สำคัญ คือการเลือกประเทศ...เขาจะมีให้เราเลือก เป็น 3 อันดับ (3ประเทศ) เราก็เลือกตามที่เราสนใจเลย 3 ประเทศอย่างที่เราลงตอนนั้นคือ

1. อังกฤษ
2. อเมริกา
3. นอร์เวย์

การเลือกอันดับ มันก็มีข้อที่น่าสนใจน่าศึกษานะ เพราะ เราอยากไป อังกฤษ กับ อเมริกา พอๆกันเลย แต่เราจะต้องดูที่ จำนวนที่เขารับด้วย อเมริกา รับ 45 คน แต่อังกฤษ รับแค่ 1 คน!!! และแน่นอนว่ามันต้องมีการแข่งขันกัน และหากเราอยากไปอังกฤษ กับอเมริกาทั้ง 2 ประเทศ เราควรจะยกอังกฤษเป็นอันดับ 1 เพราะหากเราติด ได้ทุน AFS (สอบสัมภาษณ์ผ่าน) เราก็จะ ได้ประเทศ ตามที่เราเลือก และเขาจะดูจากคะแนนของเรา ว่า คะแนนถึงไหม? เมือเทียบกับคะแนนของคนอื่นๆ หากคะแนนสูงมากพอ ก็จะได้ประเทศที่เราเลือกอันดับ 1 สมใจอยาก แต่หากไม่ถึง เขาก็จะลงมาดูที่อันดับ 2 ถ้าไหว ก็จะให้ประเทศนี้เลย หากยังไม่ถึงอีก ก็จะมาดูที่ อันดับ 3 หากอันดับ 3 ยังไม่ถึง แต่สอบสัมภาษณ์ผ่าน ก็จะเป็น “ตัวสำรอง” ซึ่งเราจะพูดตรงนี้ในช่วงต่อๆไปนะครับ




สอบสัมภาษณ์

เมื่อเราผ่านเข้ามาสู่การสอบสัมภาษณ์ ซึ่งจะสอบที่โรงเรียนเดิมที่เราสอบข้อเขียนครับ การสอบ เขาจะคัดคนที่มีทักษะความคิดอ่านเขียนดีมาก่อน ซึ่งจะดูจากสอบข้อเขียน ต่อมา เขาก็จะต้องดูบุคลิก นิสัยของเรา และศักยภาพของเรา โดยดูจากการสอบสัมภาษณ์ โดยที่การสอบรอบนี้ จะใช้เวลา “ทั้งวัน”

Q : มีอะไรบ้าง
A : การสอบสัมภาษณ์นั้น ใช้เวลาทั้งวัน ซึ่งสิ่งแรกเลยที่เขาจะให้เราทำคือ เข้าไปในห้องสอบ แล้วแจกกระดาษที่มีคำถามแปลกๆ ซึ่งคงจะเดาออกเลยว่า เขาจะถามความเป็นตัวของเรา โดยที่คำถามจะเป็นแนวๆของ

ถ้ามี......คุณนึกถึงอะไร
ใครคือ Hero ของคุณ
นิสัยของคุณ

จะถามอะไรที่มันเกี่ยวกับตัวเรา และ อย่าเขียนเล่นเลยนะ เพราะกระดาษคำถามพวกนี้ เขาจะอ่าน แล้วใช้สัมภาษณ์เรา ดังนั้น เขียนคำตอบที่มันตรงกับตัวเราไป แล้วเราควรจะอธิบายคำตอบของเราให้ได้ด้วย ไม่ต้องเครียดกับข้อสอบอันนี้ ที่จริง เขาให้เราเขียนๆไป แล้วเขาจะอ่าน ไม่ได้มีคะแนนอะไรมากมาย เป็นการอ่านใจเรา แล้วนำข้อมูลพวกนี้มาถามเราหากเขาจะถาม

ห้องสอบห้องนึง จะมีคนประมาณ 10 กว่าคนเท่านั้นเอง ดังนั้น เราจึงต้องทำความรู้จักกับเพื่อนๆเหล่านี้ ขอย้ำว่า ต้องทำ

การสอบสัมภาษณ์ เขาจะจ้องมองคุณตั้งแต่วินาทีแรกที่คุณเดินมาที่ห้องสอบ เขาจะจับตามองคุณไปเรื่อยๆ ว่าคุณทำอะไร ยังไง มีความกล้าแค่ไหน การที่คุณทำความรู้จักกับเพื่อนเหล่านั้น เป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะเราต้องทำกิจกรรมด้วยกัน ทั้งวัน นอกเหนือจากการสัมภาษณ์ตัวต่อตัว และอาจารย์ที่คุมห้องสอบเรา ก็จะสังเกตการณ์เราทั้งวันด้วย เขาจะมีรายชื่อของพวกเรา คอยดูเราตลอดทั้งวัน

และที่ห่วงมากคือ เขาอยากเห็นพวกเรากล้า แต่ไม่อยากเห็นการแสดงของเรา หรือการเสแสร้ง ไม่ใช่ว่าเราบอกให้ทำความรู้จักกับเพื่อนๆ คุณจะถามชื่อคนนั้นคนนี้แล้วแนะนำตัวเองทื่อๆ เหมือนกับว่า ทำมา เพราะเขาให้ทำ มันไม่ใช่ ที่เราทำ เพราะ เราต้องทำ การแนะนำตัวเป็นเรื่องที่สำคัญมากในสังคมต่างชาติ คนไทยไม่มีวัฒนธรรมที่แนะนำตัว ส่วนมาก อย่างที่เห็น ทักทาย แล้วก็อุอิๆๆๆ ไม่พูดไม่จา แบบนี้ เข้าสังคมต่างชาติไม่ได้ เวลาเจอกัน ก็ทักทายเลย คุยกันนิดหน่อย แล้วเราก็ต้องถามชื่อเขา แล้วแนะนำตัวเอง

อย่านึกว่า พวกนี้ ไม่ใช่คนที่เรารู้จัก เราก็ไม่สนใจเขา เราอยู่ของเราได้ เราทำกิจกรรมกับเขาได้ แต่ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปคุยกับเขา...เฮ้อ เพื่อนเราอยู่อีกห้อง ทำไมเราไม่ได้อยู่กับเพื่อนยนะ เดี๋ยวเวลาพัก ไปหาเขาดีกว่า

ห้ามคิดแบบนี้เป็นอันขาด!!!! หากเรายังมัวแต่อยู่ในโลกของเรา ไม่ปรับเข้าหาคนอื่น คุณจะล้มเหลวในการสอบสัมภาษณ์ทันที คุณต้องปรับตัวให้เข้ากับคนอื่น อย่ามาหวังว่าจะให้เขาปรับตัวเข้าหาเรา แต่ละฝ่าย มีหน้าที่ปรับเข้าหากัน แล้วทุกอย่างจะลงตัว

การสอบสัมภาษณ์เป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อน ทุกวินาทีของคุณในการสอบ มีผลต่อคะแนนคุณทั้งนั้น ดังนั้น จงเป็นตัวของตัวเอง หากคุณขี้อาย หรือเป็นคนพูดน้อย จงเปิดกว้าง พยายามคุยกับคนอื่น ที่สำคัญ ยิ้มแย้มแจ่มใส เมืองไทย สยามเมืองยิ้ม อย่าลืม หากคุณเป็นคนอารมณ์ดี ช่างพูดอยู่แล้ว กล้าอยู่แล้ว ก็อย่าพูดให้มันมากนัก อย่าทำตัวเด่น ให้โอกาสคนอื่นได้แสดงออกบ้าง เราก็ต้องมีลิมิตด้วย อย่าลืม

ที่เราพูดมานี่ ยังไม่เข้าการสัมภาษณ์เลย แต่มันเป็นจุดสำคัญที่เราต้องจำไว้เลย และการสอบสัมภาษณ์ จะมีรุ่นพี่ที่ติด AFS มาคอยดูแลเรา ยังไง ทำความรู้จักกับพี่เขาไว้ และสังเกตเลยว่า รุ่นพี่ AFS ทุกคน จะช่างพูดช่างจา กล้าแสดงออก AFS ต้องการคนแบบนั้นครับ เพราะเราต้องดิ้นรน หาทางเอาตัวรอดในสังคมต่างชาติ อย่าลืม

หากเราได้เพื่อนในวันนั้น ทุกอย่างจะดีขึ้นเรื่อยๆ เราจะมีเพื่อนคอยแนะนำ หรือ แชร์ความรู้สึกด้วยกัน ช่วยกันแนะว่า พอถึงเวลาเข้าสอบสัมภาษณ์ตัวต่อตัว จะต้องทำอย่างไร เราน่าจะตอบยังไง ความรู้สึกเราในตอนนั้นคือ เพื่อนๆแต่ละคน เข้าไปในห้องสอบ ทีละคน...ทีละคน แล้วหายเงียบอยู่ในนั้นเป็นเวลา 20 นาที บางราย ถึง ครึ่งชั่วโมง พอออกมา ทุกคนที่รออยู่ ต่างอยากรู้อยากเห็น ก็จะถามทุกคนที่ออกมาว่า เป็นอย่างไรบ้าง? เราก็พยายามฟังเพื่อน แล้วพยายามทำสมาธิ อย่าลนลาน หากเราตื่นเต้น ก็คิดเสียว่า เพื่อนข้างๆเราทุกคน ก็ตื่นเต้น เราทุกคนมีจุดประสงค์เดียวกันอยู่แล้ว คุยกับเพื่อน ทำสมาธิ หายใจเข้าออกช้าๆ หรือจะหันไปคุยกับพี่ๆก็ได้
บางคนออกมาหน้าตายิ้มแย้ม บางคน ออกมา แทบจะเป็นลม อันนี้ขอสาบานว่าเป็นเรื่องจริง บางคนออกมา เหมือนจะเป็นลมแล้ว พอเราถามว่าเกิดอะไรขึ้น เพื่อนคนนั้นตอบว่า อาจารย์ถามเราไล่ๆเรามาจน จนมุม ตอบไม่ได้แล้ว

ดังนั้น จำไว้เลยว่า อาจารย์ จะพยายามหาจุดอ่อนเรา แล้วต้อนเราให้จนมุม นี่คือ 1 ล่ะที่เพื่อนๆต้องจำไว้เลย

Q : แล้วทำอย่างไร ไม่ให้อาจารย์เห็นจุดอ่อนเรา หรือว่า ต้อนเราจน เราตอบไม่ได้ล่ะ?
A : มันขึ้นอยู่กับบุคลิกของเราด้วยว่า เวลาเราพูด จะทำให้อาจารย์เชื่อถือเราแค่ไหน เราต้องพูดด้วยความหนักแน่น แล้วอย่าทำหน้าเครียด และอย่านั่งทื่อๆ ที่ผมทำในตอนนั้นคือ พยายามยิ้มมากๆ แต่ไม่ใช่อีบ้ายิ้มตลอดเวลานะ และเราก็จะต้องพูดด้วยความเร็วที่พอฟังได้ อย่ายานคาง ไม่ใช่พูดไป ก็ อ่าฮะๆๆๆๆ เอ่อ....
อย่าลังเล จะพูดก็พูด หากนึกไม่ออก ก็บอกตรงๆเลยว่า ขอเวลาคิด อย่าเงียบ และเวลานั่ง ขยับเก้าอี้เข้ามาให้ชิดโต๊ะ ให้มันกระชับที่สุด ทำท่าทางให้ผู้สัมภาษณ์มองเราว่า เราไม่กลัว ไม่ประหม่า ขยับตัวเล็กน้อย เพื่อกำจัดความตื่นเต้น และขยับตัวเล็กน้อย เพื่อให้เขามองว่า เราเป็นคนที่กระฉับกระเฉง อย่างที่เราทำตอนนั้นคือ ตอบคำถามไป บางที ก็ขยับเก้าอี้เล็กน้อย ปรับท่านั่ง ทำให้มันเป็นกันเองที่สุด และเราต้อง Active ถึงที่สุด แต่ไม่ใช่ ไฮเปอร์

ก้าวแรกที่เข้าไปในห้องสอบสัมภาษณ์

ก้าวแรกที่จะเข้าไปในห้องสอบ คงจะเป็นจุดเริ่มต้นเลยที่อาจารย์จะให้คะแนน เราจะเดินตัวสั่นเข้าไป? หรือเดินยิ้มแหะๆเหมือนพวกสติไม่ดีเข้าไป หรือ เราจะเดินเข้าไปอย่างเรียบๆ พร้อมจะตอบคำถาม หรือเราจะเดินไปด้วยความมั่นใจ ยิ้มแย้มทักทายอาจารย์ หรืออาจจะเดินเข้าไปด้วยความมั่นใจ จนลืมมารยาท?

ทางที่ดี หากคุณเข้าไปแล้ว อย่าแสดงให้เห็นว่า ประหม่า คุณไม่จำเป็นว่าเดินเข้าไปต้องยิ้มแย้ม หรือแสดงท่าทีว่า เรามั่นใจนะ แต่ที่เราควรทำมากๆเลยคือ กล่าวทักทายอาจารย์ครับ เราคนไทย ทักทายท่านไว้ เราไม่รู้ว่าคนที่สัมภาษณ์เราน่ะคือใคร แต่ยังไง เรียกท่านว่า อาจารย์ครับ เรียกให้ติดปาก ครับ/ค่ะ ห้ามลืม พอเข้าไป ก็ทักทายเลย สวัสดีครับอาจารย์!

Q : สภาพห้องสอบ?
A : สภาพในห้องสอบนั้น จะมี โต๊ะ 2-3 ตัววางเรียงกันมีอาจารย์ 2-4 ท่านนั่งอยู่ และอีกฝั่ง คือ เก้าอี้ ให้เรานั่ง เราคนเดียว ต่ออาจารย์ อีก 2-4 คน อาจารย์ จะถามเราทีละคน แต่จะมี 1 คน ที่คอยจดบันทึก อาจารย์บางท่าน อาจจะ เป็นมิตร บางท่าน ถามด้วยหน้าตาเคร่งเครียด คนแบบนี้มีทุกประเภท ที่เราควรคำคือ ยังไง เราก็เป็นมิตรไว้ก่อนดีกว่า เราอย่าไปกลัวเขาละกัน หน้าที่ของเราคือ ทำตรงนั้นให้ดีที่สุด ใครจะถาม ก็ช่างเขา แต่ เราเป็นมิตรกับเขาไว้ และอย่าลืม ต้องมองตาด้วยเวลาพูด บางห้อง อาจจะถามโดยใช้ภาษาอังกฤษมากหน่อย บางห้องอาจจะถาม อังกฤษครึ่งนึง ไทยอีกครึ่งนึง บางห้องอาจจะถามเป็นภาษาไทยเยอะมากเป็นส่วนใหญ่ ยังไงตรงนี้ มันแล้วแต่ดวง อาสัยถามเพื่อนๆที่สอบก่อนหน้าเราก็ได้ ว่าอาจารย์ถามอะไร?

พอเราเข้าไป ทักทายแล้ว อาจารย์ อาจจะถามเรานิดหน่อย เป็นยังไงบ้าง ก่อนที่จะเข้าเรื่อง
สิ่งที่อาจารย์บางท่านจะให้เราทำเลยคือ ให้เราแนะนำตัวเองก่อน บางคนอาจจะต้องโดนเป็นภาษาไทย บางห้องเป็นภาษาอังกฤษ หรือบางห้อง อาจารย์ จะศึกษาประวัติเรามาว่าเราสนใจประเทศไหน บางคน ลงว่าอยากไป ประเทศจีน เขาอาจจะใช้จุดนี้ถามเลยว่า ลองพูดเป็นภาษาจีนได้ไหม??? จุดนี้ น่าจะเป็นหน้าที่ของเพื่อนๆเลยที่จะไปนึกหัวข้อว่า หากเราแนะนำตัว น่าจะพูดเรื่องไหน? ที่สำคัญเลยคือ ชื่อ นามสกุล ชื่อเล่น อายุ เรียนชั้นอะไร? โรงเรียนไหน ชอบทำอะไรในเวลาว่าง และอย่าลืมปิดท้าย ยินดีที่ได้รู้จัก / It’s nice to meet you. เป็นมารยาท อย่าลืม

บางท่านอาจจะให้เรายืนขึ้น และแนะนำตัว เราก็ยืนนิ่งๆละกัน ไม่ใช่เอนไปเอนมา อยู่ไม่สุข พอพูดจบก็ยิ้มนิดๆ แล้วก็กลับมานั่ง ไม่ต้องเชื่อที่เราบอกก็ได้ แต่ทำยังไง ที่จะทำให้อาจารย์มองว่า มันเป็นตัวตอนของเรา หรือว่า จะมองว่า เรา กระตือรือร้น และอย่างที่เราบอกคือ กระฉับกระเฉงไว้ เพื่อที่จะได้กันไม่ให้อาจารย์หาช่วงที่จะเห็นจุดอ่อนเรา หลายคนที่จะเผยจุดอ่อนเพราะความลังเล เราก็อย่าลังเลสิ หากเราลังเลจริงๆ ก็พยายามขยับเก้าอี้ตามที่เราบอก หรือจะวิธีอื่นก็ได้ มันก็เพื่อทำให้เราดู Active จะไปกลบๆจุดอ่อนของเรา ความลังเลของเรานั่นเอง

Q : แล้วเขาถามอะไรบ้าง?
A : แต่ละคน ก็ถามไม่เหมือนกันหรอกนะ แต่AFS คือ การที่เราไปแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม และการอยู่รอดในสังคม ดังนั้น คำถาม จึงย่อมออกมาในแนวของเรื่องของวัฒนธรรม การถามคำถามเชิงไหวพริบ หรือถามว่าเราจะเผยแพร่วัฒนธรรมของเราอย่างไร? อาจจะมีการยกตัวอย่างเหตุการณ์อย่างหนึ่งมา แล้วถามว่า เราจะทำอย่างไร? จะขอสรุปเป็นข้อๆง่ายๆ ไว้จำให้ขึ้นใจ

1. ให้เหตุผลว่าทำไมถึงอยากไปประเทศนั้น?(โอกาสเจอคำถามนี้สูงมาก)
2. ต้องแนะนำตัวเอง (โอกาสโดนสูง และอาจจะโดนเป็นภาษาอังกฤษ หรือภาษาที่ 3 ขึ้นอยู่กับประเทศที่เลือก ถ้าพูดภาษาที่ 3 ไม่ได้ ก็บอกไปตรงๆนะครับ อย่าพยายาม แต่อังกฤษนี่ลองฝึกไว้)
3. มุมมอง และวิธีการเผยแพร่วัฒนธรรม (โอกาสโดน ปานกลาง)
4. ถามปัญหาเกี่ยวกับปัญหาเฉพาะหน้า และการแก้ไข (โอกาสโดนปานกลาง)
5. เรื่องเบ็ดเตล็ด เช่น ชีวิตของเรา ชีวิตครอบครัว ชีวิตที่บ้าน เหตุการณ์ในดวงใจ ( โอกาสโดนปานกลาง)
6. เรื่องการเรียน (โอกาสโดนน้อย)
7. กิจกรรม และความสามารถพิเศษ (ปานกลาง)
8. พูดเกี่ยวกับตัวเอง เช่น บอกข้อดีของเรา (ปานกลาง)
9. ให้แสดง เช่น รำไทย ร้องเพลงไทย (โอกาสโดนน้อย)




และคำถามที่น่าจะจำไว้เลยคือ ทำไมถึงเลือกประเทศนี้? ทุกอย่าง มันต้องมีเหตุผล เราเลือกประเทศนี้ มันก็ต้องมีเหตุ ที่ทำให้เราเลือกประเทศนั้นๆ คิดไว้เลย เพราะเกือบทุกห้อง จะถามคำถามนี้ ขอแนะว่า อย่าย้ำเรื่องความสวยงามของประเทศมากนัก เราพูดได้ว่า เราเลือกไปประเทศนี้เพราะมีทิวทัศน์สวยงาม แต่เราก็ต้องมีเหตุผลอื่นมาประกอบด้วย เพราอย่าลืมว่า เราไม่ได้มาเที่ยว นี่ไม่ใช่โครงการเที่ยว เราควรจะหาเหตุผลอื่นมาประกอบด้วย อย่างเช่น....ผู้คนประเทศนั้น น่าจะเป็นมิตร...ประเทศนั้นมีสถาปัตยกรรมสวยงาม หรือมีประวัติศาสตร์น่าสนใจ มีความเจริญทางวัฒนธรรม มีกฎระเบียบที่แน่นอน บ้านเมืองสงบสุข หรือ เราอาจจะสนใจสังคม วัฒนธรรมของประเทศนั้น เลยเลือกที่จะไปประเทศนี้ คิดไว้เลยละกัน เพราะเราว่าเขาถามแน่ๆ เขาจะถามไล่ๆเลย ทั้ง 3 อันดับที่เราเลือก ไล่ทีละประเทศ เราก็ต้องตอบให้ได้ทั้ง 3 ประเทศครับ

จะใช้เวลาตรงส่วนคำถามนี้ค่อนข้างนานนะ แล้วเขาก็จะถามต่อไปในคำถามอื่นๆ จะยกตัวอย่างให้ละกัน

-เมื่อคุณไปถึงที่นั่น คุณมีวิธีเผยแพร่วัฒนธรรมไทยอย่างไร?

หากจะให้เราแนะนำคำถามนี้ ที่สำคัญเลยคือ การสวัสดี เราก็ตอบว่า เราจะสอนให้เขารู้จักกับการสวัสดี การทักทายของไทย หรือ เราอาจจะสอนเขาให้รู้จักกับการละเล่นง่ายๆของไทย หรือแม้แต่ทำอาหารไทยให้ทาน เช่นไข่เจียว

หากจะสอดมุขอะไรเข้าไปหน่อยก็ดีนะครับ อย่าปล่อยให้การสัมภาษณ์เป็นเรื่องเครียด ผู้สัมภาษณ์อยากเห็นเราอารมณ์ดีแน่นอนครับ

-หากคุณไปงานปาร์ตี้ของเพื่อนๆชาวต่างชาติ แล้วเขาสูบบุหรี่ คุณไม่ชอบเลย จะบอกเขาว่าอะไร?

ต้องคิดแล้ว อันนี้เป็นคำถามวัดไหวพริบนะครับ หากเราไปเจอเหตุการณ์นี้จริงๆ มันก็น่าคิดว่า จะทำยังไง พูดยังไงให้อีกฝ่าย ไม่โกรธ มันต้องมีวิธี เราก็ควรจะพูดแบบมีเหตุมีผล และหนักแน่น เราตอบว่า อย่าสูบได้ไหม มันทำให้เราเวียนหัว

อาจารย์ถามต่อ ว่าหากเขาไม่หยุด จะทำอย่างไร? เราก็ตอบแบบจริงๆจังๆเลยว่า ถ้าไม่หยุด ก็ต้องออกห่างเลย เพราะมันก็เป็นอันตรายกับเราเอง

เวลาตอบ อย่าพูดอ้อม พูดตรงๆเลยก็ได้ แล้วแต่ความเหมาะสม

-คุณจะมีของฝากอะไรไปให้ Host Family?

อันนี้เพื่อนเราเจอ ข้อนี้ ขอแนะว่า เวลาตอบ อย่าตอบในแนวของความฟุ่มเฟือยว่า จะให้ยังงั้นยังงี้ หัวใจคือ เราควรจะให้ของที่สื่อวัฒนธรรมของเราให้ได้ดีที่สุดตังหากล่ะ อาจจะบอกว่า เป็นพวกกุญแจ หนังสือเที่ยวไทย หรือภาษาไทยเบื้องต้น ลูกตะกร้อ ผ้าไทยเล็กๆน้อยๆ อย่าลืมเหตุผล อาจจะบอกว่า เป็นของไทยที่สวยงาม และน่าจะสื่อความเป็นไทยได้ดี จะตอบว่าเอาของ OTOP ไปก็ได้-*- เราว่าอาจารย์เขาจะขำนะ ซึ่งเป็นเรื่องดี แต่อย่าลืมเหตุผลละกันว่า ทำไมถึงเลือกสินค้า OTOP ไป^^


และจะมีคำถามที่แปลกมากๆ ที่เพื่อนร่วมห้องสอบเราเจอ คือ

“หากมีคนมาขอร่วม sex กับคุณ จะทำอย่างไร?”

อันนี้ ไม่ใช่เรื่องทะลึ่ง หากมัวแต่คิดเลยเถิด “เฮ้ย นี่ถามไรวะ?” นั่นคือการเผยจุดอ่อนเลยนะ หากเขาถาม เราก็มีหน้าที่ต้องตอบ อย่าคิดว่ามันเป็นเรื่องตลก หรือทะลึ่ง หาคำตอบที่เหมาะสมมาตอบก็แล้วกัน เราไม่ได้เจอคำถามนี้ แต่หากเราเจอ เราก็คงไม่มัวมานั่งตกใจคำถามนี้หรอกนะ มีสมาธิไว้ครับ


คำถามที่เราเล่านี้ ครึ่งนึงของทั้งหมด ถามเป็น ภาษาอังกฤษนะ ^^” เราไม่ต้องเลือกคำยากๆมาหรอก คำง่ายๆก็สามารถใช้ได้ เวลาสอบสัมภาษณ์ เขาไม่ได้ดูว่า เราใช้คำศัพท์สวยหรูเลย เขากลับมองว่า เราจะสื่อยังไง? จะพูดออกมายังไง? สื่อสารพอเข้าใจหรือเปล่า? บุคลิกดีหรือเปล่า ตังหาก


และอย่าลืมกระดาษที่เราเขียนตอนแรก เขาก็เอามาถามจริงๆครับ อย่างคำถามที่เราเจอคือ ฮีโร่ของคุณ คือใคร?

อย่างเรา ตอบว่า Steven Spielberg ตรงจุดนี้ อย่าลืมว่า อาจารย์ท่านอ่านมาหมดเลย เขารู้ว่าเราตอบอะไร เขารู้ว่าเราเขียนอะไร เขาพร้อมที่จะถามเลยว่า ทำไมถึงชอบ? ทำไมถึงคิดว่าเขาคนนี้เป็นฮีโร่? คุณก็ต้องตอบด้วยความเห็นของคุณเลย

และข้อสำคัญ คือ พยายามดันๆให้อาจารย์ถามถึงเรื่องที่เราถนัด อย่างเมื่อมาถึง Steven Spielberg แล้ว ก็ดันๆไปเรื่องหนังสิ ชวนเขาคุยเรื่องหนัง อะไรก็ได้ที่ทำให้เราคุยได้เต็มที่ครับ

อย่างเพื่อนๆที่อยู่บอร์ดนี้ เราก็มีอะไรเหมือนกันอย่างนึงคือ เราชอบ Harry Potter เหมือนกัน! ทำไมไม่เอาจุดที่เราชอบ มาเป็นจุดที่ทำให้เราได้เปรียบเวลาสัมภาษณ์ล่ะ ใช้จุดนี้สิครับ เวลาสอบ เอามันเข้าไปเลย หนังสือ แฮร์รี่ พอตเตอร์ เอาไปซักเล่มนึง จะทำเป็นว่าตอนนี้อ่านอยู่ เลยเอาติดมือไปก็ได้ แล้วเวลาพูด ก็หาทางวกมาเรื่องนี้สิครับ^^ อาจารย์เขามีตา เขาย่อมสังเกตว่า เราเอาอะไรเข้าไป เขาอาจจะถามเลยด้วยซ้ำว่า เอาอะไรเข้ามา แล้วเขาอาจจะชวนเราคุยเรื่องนี้ ก็ได้ครับ

หากเราเลือกไปประเทศอังกฤษอันดับแรก เหตุผลที่ชาว MT น่าจะตอบ คือ England is the home of Harry Potter. อะไรประมาณนี้ อาจจะหาคำที่มันดีกว่านี้ก็ได้ นี่ไง เราก็วกมาเรื่องนี้ได้แล้ว อาจารย์ เขาย่อมถามเราต่อว่า

Why do you like Harry Potter?
แค่นี้ ก็น่าจะคุยโม้ต่อได้นานเลยนะครับ เพราะเราเจอมาแล้ว

ขอนอกเรื่องนิดว่า ตอนนั้น เป็นวันที่ 17 กรกฎาคม 2005 เป็นวันหลังจาก The Half-Blood Prince วางขาย แค่วันเดียว เราไปไหน ก็จะเอาหนังสือไปด้วย เลยเอาจุดนี้แหละมาเป็นเรื่องคุย พอเราเข้าห้องสอบ ก็วางเล่ม 6 สีเขียว ดังปึ้ง!!! ลงที่โต๊ะเลย แล้วหาทางวกมาเรื่อง Harry potter ซึ่งก็ได้ผล เราก็คุยได้ดีทีเดียวในเรื่องที่เราชอบ

ผลจากการวกมาเรื่องนี้ ทำให้เราเจอคำถามเกี่ยวกับ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ดังนี้ครับ

ทำไมถึงชอบ แฮร์รี่พอตเตอร์?
ระหว่างหนังกับหนังสือ คุณชอบอะไรมากกว่ากัน? ทำไม?
หากคุณจะเสกคาถา คาถาหนึ่งแก่ประเทศไทย คุณจะเลือกคาถาไหน

คำถามสุดท้ายออกจะแหวกแนวสักนิดนึง แต่ หากคุณตอบได้ดี ก็คงจะกินใจอาจารย์ได้เลย คิดดีๆ หากวกมาเรื่องแฮร์รี่พอตเตอร์แล้ว คุณก็น่าจะตอบได้ ไม่ว่าจะเจอคำถามรูปแบบไหนนะครับ

หากมีคำถามที่คุณไม่เข้าใจเวลาสัมภาษณ์ หรือคำถามนั้นเป็นภาอังกฤษ ซึ่งยังไม่เข้าใจ คุณควรที่จะถามอาจารย์

Excuse me could you repeat the question again?
อาจจะไม่ถูกหลักแกรมม่าหรอกนะครับ แต่หากเราถามแบบนี้ มันก็บอกว่า เรายังไม่เข้าใจคำถามนะ เราก็ถามไปตรงๆ ดีกว่ายังไม่เข้าใจคำถามแล้วยังดันๆตอบผิดตอบถูกไปทั้งๆที่ยังไม่เข้าใจคำถาม...คนไทยจะมีนิสัยคือ ขี้เกรงใจ ยังไง ถอนนิสัยนี้ออกไปก่อนตอนสอบสัมภาษณ์ละกัน หากสงสัย ถาม หากไม่เข้าใจ ถาม อาจารย์เขาจะเอ็นดูเราด้วยซ้ำ หากเราไม่เข้าใจ แล้วบอกตรงๆน่ะครับ เขาจะมองว่า เรา กล้าที่จะถามครับ

เมื่อจบการสัมภาษณ์ เขาก็จะสังเกตเราจนถึงก้าวสุดท้ายที่เราออกนอกประตูไป อย่าลืม กล่าวอำลา และ ขอบคุณ อาจารย์ จะเป็นภาษาไหน ก็แล้วแต่



แล้วก็จบการสัมภาษณ์ตัวต่อตัว ขอสรุป

- เป็นตัวของตัวเอง กล้าพูด
- กระฉับกระเฉง
- ปกปิดจุดอ่อนตัวเอง อย่าให้อาจารย์ มีโอกาสจับผิด หรือต้อนเราจน ตอบไม่ได้
- ยิ้มแย้มแจ่มใส
- ครับ/ค่ะ ขอบคุณ Thankyou Good Moring คำทักทาย –กล่าวอำลาให้ติดปากไว้
- อย่าเครียด สอดแทรกความสนุกสนานไว้
- เตรียมคอนเซปพูดไว้เผื่อก็ได้
- ไม่เข้าใจ ก็ ถาม
- หาอุปกรณ์ หรือ วกมาในเรื่องที่เราถนัด
- พยายามสื่อสารให้เข้าใจ
- อย่าลังเลนานเกิน อย่าตะกุกตะกัก และ เวลาพูด ต้องมองตา



กิจกรรมช่วงบ่าย

กิจกรรมช่วงบ่ายนะครับ จะเป็นการนันทนาการ มีการร้องเพลง มีการเต้น มีการทำกิจกรรม โดยที่มีอาจารย์ท่านเดิมที่สัมภาษณ์ คอยสังเกตการณ์เรา

ทางที่ดีคือ อย่าไปสนใจอาจารย์ ยังไง ก็สนุกกับมัน พี่ๆ AFS จะเป็นผู้ทำกิจกรรม หากเราเป็นคนไม่กล้าแสดงออก ก็ถึงเวลาแล้วที่จะต้องกล้า จะไปสนอะไรล่ะครับ? อายทำไม? หากเขาจะให้เราทำอะไร เราก็ต้องทำ ไปอยู่ต่างประเทศ มีสิทธิ์เลือกงั้นหรือ?

สิ่งที่จะมีเยอะสุด คือการเต้นประกอบเพลง ประเภทไก่ย่างอะไรแบบนั้นน่ะ -*- เราก็เต้นไปเหอะ ไม่มีอะไรหรอก จะมีการเล่นละครด้วย เราก็ต้องเล่น

ถ้าเราแนะนำนะ ง่ายๆคือ เต็มที่ ครับ


แค่คำว่า เต็มที่ คงอธิบายได้หมด ทั้งการกล้าแสดงออก การให้ความร่วมมือกับกิจกรรม ความทุ่มเท
และก็อย่าลืมเพื่อนๆ ซึ่งก็เป็นชุดเดิมกับตอนเช้า ทำความรู้จักไว้ คุยๆกันไว้ เพราะมันสำคัญกับตอนบ่ายนั่นเอง^^ บางกิจกรรม อาจจะต้องใช้ความสามัคคี อย่างเช่น ช่วยกันต่อหอคอยที่ทำจากหนังสือพิมพ์ เป่ายิ้งฉุบรถไฟเอย หรืออาจจะมีการฝึกแก้ปัญหาอย่างเช่นปมมนุษย์-*- หรือเรียงประโยค อาจจะต้องมาการร้องเพลง มีการเต้น หรือทดสอบความจำเกี่ยวกับเรื่องของเพื่อน อาจจะต้องมีการแสดงละคร หากเรา เต็มที่ ผมก็คิดว่า เพื่อนๆทุกคน ทำได้ เต็มที่เลย เรามาสนุกครับ ลืมเรื่องตอนเช้า ลืมอาจารย์ที่กำลังสังเกตการณ์ เราเต็มที่ครับ เต็มที่~!!!! อย่าลืม เรื่องของเพื่อน อย่าปิดตัวเอง เปิดกว้างกับเพื่อนใหม่ ไม่มีใครชอบคนที่นั่งแยกคนเดียว หรือไม่พูดไม่จาหรอกครับ อาจารย์ที่คอยสังเกต ก็หักคะแนนคุณตายเลย

มีการขออาสาสมัครอะไร ก็ทุ่มเท อาสาบ่อยๆครับ กล้าที่จะเสนอตัวเอง แต่อย่าถึงกับเสนอหน้า และกล้าแสดงออกด้วย ยิ้มแย้มกับเพื่อน กับพี่ กับอาจารย์

เราว่า หากเรากล้าพอที่จะฝ่าด่านนี้ไปได้ มันก็มีแค่ความ “เต็มที่” น่ะแหละครับ หากคุณเต็มที่กับวันนั้น ทุกอย่างมันก็เป็นของคุณแล้วล่ะครับ อีก 1 เดือนนับจากนั้น ก็รอชื่อของคุณในรายชื่อคนที่ได้ทุน AFS ได้เลย

หากยังหมกมุ่นในโลกของตัวเอง ยังเงียบ ไม่ปรับตัว ก็พยายามหาจุดที่แก้ไขตัวเองก็แล้วกัน หากคุณเป็นคนไม่กล้าแสดงออก อย่างน้อย ก็ทำเพื่อประโยชน์ของตัวเอง ยิ้มเข้าไว้ครับ^__^


สรุปของกิจกรรมช่วงบ่าย

-บ้า บอ คอ แตก
-กล้าแสดงออก
-เป็นมิตร
-หมั่นอาสา
-ทุ่มเทในทุกกิจอรรม

ซึ่งก็รวมเป็น “เต็มที่ครับ”



-----------------------------------------------------------------






1 เดือนผ่านไป...... . . . . . . .

ก็จะประกาศรายชื่อ ผู้ที่ติด AFS ครับ อย่าลืมว่า ใน 1 สนามสอบ จาก 700 จะเหลือ 100 แต่ใน 100 นั้น หมายถึง “ตัวจริง” ซึ่งหมายถึง คุณน่ะ ได้ไปแน่นอน ชัวร์ 100% แล้วประเทศที่คุณได้ไป คือคือ ใน 3 อันดับที่คุณเลือกน่ะแหละ

แต่ยังมี อีกประมาณ 200 คนที่มีสถานะเป็น “ตัวสำรอง” ซึ่งหมายถึง คะแนนคุณ ก็ผ่าน แต่คุณ ยังไม่มีประเทศที่จะไป ซึ่งยังไงสถานะของคุณ ก็คือ ติดโครงการ AFS เช่นกัน แต่ยังไม่มีประเทศไป ซึ่งภายหลัง เขาจะโทรมาบอกประเทศที่คุณมีสิทธิ์เลือกครับ

จะบอกว่า พวกตัวสำรอง มีสิทธิ์เลือกมากกว่า ตัวจริงด้วยซ้ำ บางคนมีตัวเลือกมาเป็น สิบๆเลย มานั่งเลือกไปสบายใจ ในขณะที่ตัวจริง ถูกจับยัดลง ใน 3 อันดับที่เลือก โดยที่ เปลี่ยนไม่ได้-*-

วิธีการจัดการตัวสำรองเปรียบได้กับเวลาเข้าแถวเข้าสวนสนุกครับ คนหัวแถวจะได้เข้าคนแรก แต่ถ้าคนแรกไม่มีเงินค่าผ่านประตูพอก็ต้องกลับไปที่บ้านเพื่อเอาเงินแล้วกลับมาต่อท้
ายแถวแล้วรอ

เช่นเดียวกับวิธีของตัวสำรอง เขาจะจัดอันดับของตัวสำรองเรียงตามคะแนนที่เราสอบ คนที่ได้คะแนนมากสุดก็จะได้มีโอกาสเลือกประเทศก่อน ถ้าเรายังตัดสินใจไม่ได้(แต่ยังไม่สละสิทธิ์) แล้วอยากได้ตัวเลือกที่ต่างไปก็ต้องไปอยู่ท้ายแถวแล้วรอให้มันวนกลับมาที่เราใหม่ครั
บ นี่คือระบบการจัดการตัวสำรอง


ดังนั้น หากเพื่อนๆ ได้ตัวสำรอง อย่าพึ่งเป็นห่วง เขาจัดการให้แน่นอนครับ^^

ส่วนเพื่อนๆที่ไม่ติด ปีหน้า ลองใหม่นะครับ เรามาถึงสอบสัมภาษณ์แล้ว คงได้อะไรไปเยอะล่ะครับ




ทีนี้ เรามาดูในส่วนของคนที่ติด ยังไงตอนนี้พวกคุณ ก็ได้ก้าวเข้ามาสู่โอกาสที่หาไม่ได้ง่ายๆแล้ว คุณจะได้เดินทางไปอยู่ในต่างประเทศ เกือบ 1 ปี ไม่ใช่อะไรที่หาง่ายๆ นอกจาก ควักเงินเป็นล้านๆ ไปอยู่เอง รอบนี้เป็นโอกาสนะครับ^^ คุณยังมีโอกาสที่จะสละสิทธิ์ แล้วตัวสำรอง ก็จะเข้ามาแทนที่คุณครับ หรือคุณ จะตกลง เป็น เยาวชน AFS แล้วก้าวไปสู่ขั้นต่อไป

สำหรับตัวสำรอง คุณ ก็จะรอคนที่สละสิทธิ์ แล้วเข้าไปแทนที่นั่นเอง หรือ AFS จะจัดหาประเทศหลากหลายมาเป็นตัวเลือกให้คุณได้ในที่สุด ทุกๆปี ตัวสำรองส่วนใหญ่ จะได้ไปกันหมดเช่นกันครับ

ดังนั้น ถือซะว่า ตัวสำรอง อาจจะมีการดำเนินการหาประเทศช้ากว่านิดนึง นอกนั้น คุณ ก็จะมาเป็น เยาวชน AFS เช่นกันครับ

ทีนี้ จะเล่ารวบ 2 พวกเลยนะครับ พอคุณมีประเทศแล้วพวกตัวจริง จะได้ประเทศตั้งแต่เริ่มเลย)
ก็จะมี เอกสาร ปึกยักษ์ใหญ่ มากมายล้นหลามเป็น สิบๆชุด จะรวมไปถึง ใบกรอกประวัติทั่วไป กรอกประวัติครอบครัว ฟอร์มสุขภาพ ใบอนุญาตจากโรงเรียน ใบระเบียนคะแนนหรือ Transcript ซึ่งต้องไปทำเรื่องขอจากโรงเรียน รวมแล้ว การเตรียมเอกสารเหล่านี้ ใช้เวลาเป็น เดือนๆครับ คุณต้องไปที่โรงพยาบาล เพื่อตรวจสุขภาพเพื่อเอาใบรับรองจากแพทย์ ทั้งเรื่องวัคซีน และอะไรอีกมากมายต้องเขียนเรียงความแนะนำตนเอง เป็นภาษาอังกฤษ ต้องเขียนเรียงความแนะนำครอบครัว และผู้ปกครอง ก็ยังต้องเขียนเรียงความเกี่ยวกับลูก เป็นภาษาอังกฤษ ต้องทำอัลบั้มรูปขอตัวเอง 3 ชุด ต้องทำเรื่องกับอาจารย์ประจำชั้น มีใบรับรองของอาจารย์ประจำชั้น

สรุปแล้ว การเตรียมเอกสารนั้น ยุ่งยากมาก!!!!! คุณต้องประสานงานกับทุกฝ่าย ไม่ว่าจะไปถึง

สำนักงานเขต / กรมกงสุล / โรงพยาบาล / ห้องทะเบียนของโรงเรียน / ติดต่อ อาจารย์แนะแนว อาจารย์ประจำชั้น / เขียนเรียงความ ด้วยตนเอง เป็นภาษาอังกฤษ / ให้ผู้ปกครองขียนเรียงความ

เยอะมากครับ ยังไง เพื่อนพยายามเข้า ไหนๆมาถึงตรงนี้ แต่เรื่องเอกสาร จิ๊บจ๊อย! ใช้เวลาเดือนกว่า จัดการให้เสร็จนะครับ!

แล้วจะมีการปฐมนิเทศ ซึ่งเราจะไปส่งเอกสารทั้งหมดตอนนั้น

อ้อออ สำหรับน้องผู้ชาย(หรือผู้หญิงบางคนที่แกร่ง ฮ่าๆๆ) เรื่องนักศึกษาวิชาทหาร (รด.) ทาง AFS จะจัดการดร็อปให้น้องเลยนะครับ ดังนั้นก็ไม่ต้องไปกังวลว่าจะต้องทำเรื่องไปยังศูนย์ฝึกหรืออะไรเลย หรือถ้าบางศูนย์น้องต้องจัดการเองก็ต้องสอบถามเขาเอาเองนะ และแนะนำว่าในเมื่อเราดร็อปการเรียนวิชานักศึกษาวิชาทหารไปแล้ว ในปีหน้าเมื่อเราขึ้นชั้นปีต่อไป ก็ไม่ต้องไปรายงานตัวให้เสียเวลานะครับ เพราะยังไงเราก็ต้องขาดเรียนเกิน 4 ครั้ง และขาดสอบอยู่ดี ถ้าสบายสุดๆก็ไม่ต้องไปคิดถึงมันเลย ไว้ค่อยกลับมานั่งคิดเรื่องนี้อีกทีตอนที่กลับมาไทยนู่นเลยครับ

แล้วทุกอย่างจะหายเงียบเลยครับ และในช่วงเวลาเหล่านั้น จะมีการ จ่ายเงินครับ มี 3 งวด ยังไงติดตามดีๆ AFS จะส่งจดหมายมาเรื่อยๆครับว่า ถึงเวลาชำระเงิน ไม่ต้องห่วงครับ

คือว่า ประเทศที่ AFS จัดส่ง จะแบ่งเป็น 2 พวกคือ ภาคพื้นทวีปเหนือ และ ภาคพื้นทวีปใต้

พวกใต้ จะเดินทางในช่วงเดือน ธันวาคมไปจนถึงช่วงต้นไปครับ
แต่พวกเหนือ จะเดินทาง อีก 1 ปีให้หลังนู่นนนน AFS จะจัดการส่งพวกภาคพื้นทวีปใต้ไปก่อน ใครที่อยู่เหนือ ก็รอก่อนครับ หลังจาก AFS จัดส่งเยาวชน ภาคพื้นทวีปใต้เรียบร้อยแล้ว AFS จะหันมาทำงานเกี่ยวกับ ภาคพื้นทวีปเหนือทันที เราขอเล่าในมุมมของทวีปเหนือนะครับ แต่มันก็เหมือนกับใต้น่ะแหละ

สิ่งที่คุณจะได้รู้ตามมาคือ เรื่องของ Host family คุณจะรู้ว่า จะได้ไปที่ไหน เมืองอะไร แต่บางคน อาจจะรู้ช้า บางคนรู้ 2 อาทิตย์ก่อนเดินทาง บางคนรู้ก่อนเดินทางนานมาก อันนี้ อย่าไปกังวล ได้ไป คือได้ไป มาเตรียมตัวก่อนเดินทางดีกว่า

หลังจากเรากรอกเอกสาร ระลอกใหญ่ไปแล้ว และจ่ายค่าธรรมเนียม 3 งวดแล้ว จะมีเรื่องอย่างอื่น ตามมา ดังนี้ครับ

1. กรอกเอกสาร ระลอก 2 -*-
2. การปฐมนิเทศ(ส่งเอกสารชุดแรก)
3. การเข้าค่ายอบรม

เอกสารระลอก 2 นั้นทิ้งช่วงยาวพอสมควร เพราะจะส่งก่อนเข้าค่ายอบรมครับ เอกสารระลอก 2 จะง่ายกว่าชุดแรกเยอะเลยล่ะ เพราะ จะมีเรื่องของ ใบอนุญาตของโรงเรียน ใบอนุญาตของผู้ปกครอง ซึ่งทำเรื่องไม่นานครับ มีสำเนาพาสปอร์ต สูติบัตร ทะเบียนบ้าน เตรียมเอาไว้ แล้วก็จะมี ฟอร์มวีซ่า ซึ่งจะกรอกตอนเข้าค่าย

สรุปแล้ว เราก็พิมพ์ตามที่ เขามีฟอร์มให้น่ะแหละครับ เขาจะมีตัวอย่างให้หมด ทำตามนั้น เบๆ ><” ส่งให้ทันก็แล้วกัน ><

ต่อไป ที่สำคัญอย่างมาก คือ การ เข้าค่าย

การเข้าค่ายนั้น มันจะเกี่ยวกับการเอาตัวรอด เราจะได้เพื่อนใหม่มากมายครับผม การเข้าค่ายจะใช้เวลา 3 วัน โดยที่จะมีกิจกรรมต่างๆนาๆ ทั้งการเต้นแร้งเต้นกา การนั่งฟังรุ่นพี่ที่มีประสบการณ์เล่าเรื่องที่น่ารู้ อะไรที่เราสงสัย ก็ถามรุ่นพี่ได้เลยครับ กิจกรรมจะเป็นแบบไหน อันนี้ไม่เล่าดีกว่า เดี๋ยวไม่สนุก แต่จะบอกว่า ยังไง ขอให้เพื่อนกล้าเอาไว้ก่อนละกันนะครับ ทุกคนที่ผ่านเข้ามาถึงตรงนี้ ต้องมีอะไรดีครับ ไม่งั้น เราไม่มาถึงตรงนี้หรอก ยังไง กล้าที่จะทำความรู้จักกับเพื่อนเอาไว้นะ^^ เพื่อนมีเป็นร้อยๆ และที่สำคัญทุกคน เป็นคนกล้าครับ เรารับประกัน ทุกคนที่มาถึงตรงนั้น คือคนที่กล้าแสดงออก กล้าพูด กล้าคิด กล้าทำ(ลองนึกไปตรงที่เราบอกตรงสอบสัมภาษณ์สิครับ) สรุปแล้ว เราว่าทุกคนที่ไปถึงตรงนั้น ย่อมกล้าที่จะคุยกัน เวลา 3 วันมันน้อยมาก แต่หากคุณใช้มันให้คุ้ม คุณจะได้เพื่อนไปอีกมาก และยังได้ความรู้ ความรู้สึกดีๆ และการเตรียมตัว ก่อนเดินทาง ไปประเทศที่คุณต้องการครับ

การเตรียมตัวเดินทาง(เล็กน้อย)

สิ่งที่เพื่อนๆต้องเตรียมยัดลงกระเป๋านั้น จะต้องใช้ไปอีกเกือบปี กับของในกระเป๋าใบนั้นใบเดียว หากประเทศที่คุณไปเป็นเมืองหนาว ก็เตรียมเสื้อผ้าที่มันเหมาะสมไป บางคนใช้วิธี เตรียมไปเท่าที่จำเป็น แล้วไปหาซื้อเอาที่นั่นครับ

เรื่องเงิน บางคนใช้ฝากเงินเข้าบัญชี แล้วไปเปิดเอาที่นั่น
หรือบางคน ก็จะพกบัตรเครดิต ไปรูดๆเอาที่นั่น แต่ถ้าจะเอาเงินสดไปทั้งดุ้นเลย ระวังให้ดีๆนะครับ - - ไม่แนะนำวิธีนั้น-*-

ของฝาก อันนี้ก็ต้องเตรียมไป ไม่ต้องหรูหรามาก แต่เอาไปฝาก เพื่อเป็นพิธี รักษาน้ำใจคนไทย^^ อาจจะมีของที่ใหญ่ๆหน่อย ให้กับ Host Family ของเรา และของเล็กๆน้อยๆให้เพื่อน เช่น พวกกุญแจ ที่คั่นหนังสือ แต่อย่าลืม ต้องเป็นของไทยๆนะครับ และอย่าให้พร่ำเพรื่อ เราต้องรู้จักเพื่อนคนนั้นก่อน แล้วค่อยให้ เพราะถ้าอยู่ๆเราให้ไป ใครก็ไม่รู้ เขาอาจจะโยนทิ้งก็ได้

การแสดง อันนี้ ไม่มีใครรับประกันว่าจะได้แสดงหรือไม่ บางคนอาจจะหาโอกาสได้ บางคนก็ไม่มีโอกาส อย่างน้อย เตรียมๆไว้เผื่อๆก็ได้ครับ อย่างเช่น รำวง รำมวยไทย เรียนไว้เล็กๆน้อยๆก็ได้ครับ อาจจะไม่ได้ใช้ แต่เผื่อๆไว้
การลาพักการเรียน – อันนี้ขาดไม่ได้เลย-*- เขาจะมี 2 ทางเลือกครับ คือ

-กลับมา จะซ้ำชั้น เรียนกับรุ่นน้อง
-กลับมา ก็กลับไปเรียนกับเพื่อนตามเดิม ไม่ต้องซ้ำชั้น แต่ต้องตามเก็บของชั้นที่เราโหว่ไปให้ทัน หรือใช้วิธีโอนหน่วยกิต

ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแต่ละคน สำหรับเรา เราเลือกซ้ำชั้น เพราะผู้ชาย อาจจะลำบากหน่อย เพราะมี รด. เข้ามาเกี่ยว หากเราไม่ซ้ำชั้น ก็หมายความว่า พอเราเข้ามหาวิทยาลัย เราก็ต้องเรียน รด. อีกปี ซึ่งยุ่งยากมาก แต่ปีที่เราไป AFS ทาง AFS จะทำการ drop รด. ปีนั้นของเราให้ เรียบร้อย ไม่ต้องห่วง

และขอย้อนกลับไปตอนสมัครว่า หากคุณสมัครตอน ม.3 จะได้ไป ตอน ม.4 (แต่กลุ่มนี้จะน้อย)
หากคุณสมัคร ตอน ม.4 จะได้ไปตอน ม.5
หากสมัครตอน ม.5 จะได้ไปตอน ม.6
แต่ไม่มีสมัครตอน ม.6 แล้วไปตอนมหาวิทยาลัยนะครับ

ใครที่จะไปตอน ม.6 ก็ต้องคิดดีๆก่อนนะครับ ไปน่ะไปได้ แต่ยังไง กลับมา อย่าลืม เก็บความรู้ให้ทัน เพราะคุณก็จะต้องเจอกับสนามสอบเข้ามหาวิทยาลัย และที่สำคัญเลย ตอนนี้เป็น ระบบแอดมิชชั่นด้วย ต้องขยันมากๆครับแล้วถ้าคุณจะเลือกสอบในปีนี้ (2551) คุณกลับมา ก็จะได้พบการสอบ แอดมิชชินระบบใหม่ที่มันมี O-NET 8 วิชา และไม่มี A-NET แล้ว จะสบายขึ้นก็ใช่ แต่การแข่งขันจะสูงขึ้นเยอะเลย

และก่อนที่จะเดินทาง จะมีการเรียกประชุมกันอีกครั้ง เพื่อสรุปทุกอย่างก่อนไป ทั้งการขนของ การแลกค่าเงิน และทุกๆอย่างครับ และเมื่อออกเดินทางไปถึงประเทศนั้นแล้ว จะมีการเข้าค่ายอบรมก่อนที่จะแยกย้ายไปยัง Host Family ของคุณ



>>>>>>>>>>>ต่อภาค 3


ปล. และตอนนี้ วันรับสมัคร ก็ใกล้เข้ามาเรื่อยๆแล้วนะครับ ตอนแรกคิดว่า จะเก็บไว้โพสตอน บอร์ดใหม่ แต่คิดอีกที โพสตั้งแต่ตอนนี้เลย อยากให้เพื่อนๆได้รู้กันครับ

และหากใครมีอะไรสงสัย ต้องการให้เราช่วยเหลือเรื่อง AFS นี้ เรายินดีช่วยเต็มที่ครับ add ได้เลย

*รบกวนน้องจะถามเรื่อง AFS แนะนำตัวและบอกด้วยน้าว่าจะถามเรื่อง AFS บางทีถามมาหลายคนพี่จำไม่ได้
หรือถ้าไม่ได้ตอบต้องขอโทษด้วยนะครับ บางทีออนแต่ไม่ได้อยู่ตรงนั้นครับ

tanba_jing@hotmail.com พร้อมยินดีช่วยเพื่อนๆเสมอครับ smile.gif

โครงการเยาวชนนักเรียนแลกเปลี่ยน AFS, ทุกเรื่องราวเกี่ยวกับAFS

สวัสดีครับเพื่อนๆทุกคน

ก่อนอื่น ขอแนะนำตัวเอง เราชื่อแทนครับ เป็น เยาวชน นักเรียนแลกเปลี่ยน AFS รุ่นที่ 45 ไปที่ประเทศสหรัฐอเมริกาปี 2006 ซึ่งเดินทางไปประเทศสหรัฐอเมริกามาเมื่อหลายปีที่แล้ว(นับเอาเอง) กลับมาแล้วข้ามชั้นไปอยู่ ม.6 ขณะนี้กำลังศึกษาอยู่ชั้นปี 3 คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ครับ เราก็อยากจะมาเล่าประสบการณ์ และ แนะนำสิ่งที่มีประโยชน์กับเพื่อนๆเกี่ยวกับการสอบเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยน AFS ครับ อันที่จริงเคยโพสต์บทความนี้ไว้ใน Mugglethai แต่รู้สึกว่าอยากเผยแพร่ต่อเผื่อจะมีประโยชน์แก่น้องๆ ผมว่า มันจะทำให้เพื่อนๆ ได้ประโยชน์อะไรอีกมากมายเลย ใครที่มีคุณสมบัติ หรือ ช่วงอายุถึงตามที่ประกาศบอก ลองไปสมัครเลยครับ เพราะหากคุณติดขึ้นมา มันจะเป็นโอกาสที่เปลี่ยนชีวิตคุณไปจริงๆ ลองดูนะ

อยากให้เพื่อนๆที่ได้อ่านบทความจาก blog นี้ ได้มาเป็นเยาวชนนักเรียนแลกเปลี่ยน AFS และได้เรียนรู้ชีวิตที่แปลกใหม่ได้ประสบการณ์ดีๆครับ และตอนนี้บทความนี้ก็ได้ถูกปรับปรุงเพิ่มเติมข้อมูลใหม่ๆให้เด็ก AFS ได้อ่านทั้งก่อนไป และหลังจากกลับมา ตอนนี้ข้อมูลในนี้รองรับทุกเรื่องราวแล้วก็สามารถเลือกอ่านได้เลยนะครับ

แต่ใครที่ยังไม่รู้ว่ามันคืออะไร เราจะอธิบายให้ฟังนะครับ

เราก็จะเล่า ตั้งแต่การสอบ ไปจนถึงการเตรียมตัวก่อนไป และการจัดการตัวเองหลังจากกลับมาเลยนะครับ หากใครที่ลองสอบตามคำแนะนำของเรา แล้วติด ก็ดีใจด้วย^^ ยังไง เราขอแนะนำเลยว่า ลองไปสอบ ไม่เห็นเสียหายอะไรเลย

Q : AFS คืออะไร?
A : AFS หรือ American Field Service เป็นโครงการ แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมของเยาวชนครับ เริ่มต้นโดยประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งช่วงแรก จะเป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมโดยที่ อเมริกาเป็นจุดศูนย์กลาง แต่ปัจจุบัน เครือข่ายเริ่มกว้างขึ้น ทำให้เรามีตัวเลือกมากขึ้นว่าจะไปประเทศไหน และ AFS ก็ขึ้นชื่อว่า เป็นองค์กรสำหรับโครงการแลกเปลี่ยนที่อยู่อันดับต้นๆของโลก

สำหรับประเทศไทยนั้น หรือ AFS Thailand มีเครือข่าย ทั่วประเทศ เช่นกัน

และ AFS ไม่ใช่โครงการแบบ Summer Camp ที่จะผสมการเรียนภาษาบ้าง ไปเที่ยวบ้าง สบายๆ แต่! AFS จะตรงกันข้ามเลย เพราะ ลักษณะของโครงการนี้ คือจับเราเข้าไปอยู่ในชุมชนประเทศนั้นๆ ให้เราอยู่คนเดียว แล้วพยายามปรับตัว ให้เข้ากับวัฒนธรรมของประเทศนั้น และศึกษาสังคม ทำความเข้าใจกับคนในสังคมนั้นๆ และ เผยแพร่วัฒนธรรมของเราให้พวกเขา เป็นการทำความเข้าใจ และแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม โดยเรามีเวลาที่จะใช้ชีวิตในประเทศนั้น 11 เดือนด้วยกัน เป็นเวลาที่เราต้องอยู่กับตัวเอง และเรียนรู้

โดยที่เรา ต้องจากประเทศไทย ไปเป็นระยะเวลา 11 เดือน เพื่อไปอยู่กับครอบครัว อุปถัมภ์ หรือ Host Family ที่จะคอยดูแล ให้ความอบอุ่นแก่เรา และเราก็จะต้องเข้าเรียนในโรงเรียนของประเทศนั้นด้วย

บางคนอาจมองว่า เสียเวลาในการเรียน ต้องมาซ้ำชั้น เก็บคะแนน เพื่อนๆเราก็อยู่ชั้นที่เหนือกว้ารา ต้องมานั่งเรียนกับรุ่นน้อง แต่หากมองกลับกันคือ เราได้เวลามา 1 ปีเต็มๆ เป็นเวลาที่ ไม่ใช่ว่าจะเอามาง่ายๆหรอกนะ ไปใช้ชีวิตในต่างประเทศ เกือบปี เราจะเป็นคนที่มองโลกกว้างขึ้น สามารถเข้าใจวัฒนธรรมของชาวต่างชาติได้ดีขึ้น และเรายังได้ปรับตัวเข้ากับสังคมนั้นๆ ด้วยความสามารถของเราเอง ซึ่ง หากคุณประสบความสำเร็จในการปรับตัว หลายๆคนที่ไป บอกเหมือนกันว่า คุณจะมีความสุขมากๆ หากคุณปรับตัวเข้ากับเขาได้ แล้วตลอด 11 เดือนนั้น ก็จะเป็นช่วงเวลาของคุณ และนำสิ่งที่ได้ กลับมาให้มากที่สุด

ใครที่กลับมาจาก AFS มักประสบความสำเร็จกันทั้งนั้น เพราะ เราจะได้ฝึกการทำงานเป็นกลุ่ม และที่สำคัญคือ ได้อยู่ร่วมกับคนต่างชาติ ต่างเผ่าพันธุ์ ต่างถิ่น ทำให้เราได้เรียนรู้ตนเอง

และตอนนี้ AFS ก็มีทุนเสริมที่บางคนคงได้ยินแล้วก็คือ ทุน
YES

Q: แล้วทุน YES มันแตกต่างยังไงกับ AFS ล่ะ?
A: ต่างอย่างมาก YES ย่อมาจาก Youth Exchange and Study เป็นอีกหนึ่งโครงการแลกเปลี่ยนที่ได้รับการสนับสนุนทุนการศึกษาเต็มจำนวนจากกระทรวงก
ารต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะมอบให้กับเยาวชน "มุสลิม" ในประเทศต่างๆ ซุ่งโครงการ YES ก็มาร่วมกับ AFS ซึ่งเด็กทุน YES รุ่นแรกได้เดินทางไปพร้อมกับเด็ก AFS รุ่น 45

ง่ายๆคือทุน YES...

- จะได้รับค่าใช้จ่ายการกินอยู่ทั้งหมดจากรัฐบาลอเมริกัน
- ต้องไปที่ประเทศอเมริกาที่เดียว
- ต้องเป็นมุสลิม
- ขึ้นชื่อว่า YES แต่เราก็คือ AFS


Q : ขอรายละเอียดการสมัคร AFS หน่อยจ้า

A : อะ จัดให้(รู้สึกเหมือนเป็นคนบ้าเลย 55)


คุณสมบัติผู้สมัคร (update สำหรับปี 2008)

ผู้สมัครสอบข้อเขียนต้องมีคุณสมบัติเบื้องต้นครบถ้วนทั้ง 6 ข้อ ดังต่อไปนี้
1. สัญชาติไทย
2. ต้องเกิดระหว่าง 30 มิถุนายน 2536 ถึง 31 ธันวาคม 2538
3. กำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 -4 –5 หรือเทียบเท่า และต้องกำลังศึกษาอยู่ในสถานศึกษาในประเทศไทย
ที่กระทรวงศึกษาธิการรับรองวิทยฐานะ ทั้งขณะสมัครและขณะอยู่ในโครงการ
4. ต้องเป็นผู้ที่ไม่เคยเข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนไปต่างประเทศที่มีระยะเวลามากกว่า 6 เดือน
5. เป็นผู้มีความประพฤติดี
6. ต้องเป็นผู้ที่มีสุขภาพสมบูรณ์ แข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัวทั้งทางร่างกายและจิตใจ ไม่เป็นโรคติดต่อหรือเป็น
พาหะของโรคใดๆที่จะเป็นอุปสรรคในการเข้าร่วมโครงการ เช่น โรคไวรัสตับอักเสบ ไทรอยด์ เบาหวาน เป็นต้น
รวมทั้งเป็นผู้มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามข้อกำหนดของประเทศอุปถัมภ์ ในกรณีที่มีข้อโต้แย้ง
ต้องได้รับการพิจารณาตัดสินเด็ดขาดโดยแพทย์ที่มูลนิธิมอบหมาย
7. มีผลการเรียนเฉลี่ยสะสมสุดท้าย (GPA)ไม่ต่ำกว่า 2.30


*หลักฐานการสมัคร

ใบสมัครสีฟ้า ติดรุปถ่ายและกรอกข้อความสมบูรณ์ พร้อมลายเซ็นผู้สมัครและผู้ปกครอง
รุปถ่ายหน้าตรง ขนาด 1 นิ้ว ถ่ายไว้ไม่เกิน 6 เดือน 3 รุป
ค่าสมัครสอบ 200 บาท

*ยื่นใบสมัครที่ศูนย์ AFS ใกล้บ้านท่าน




Q : และต้องทำอะไรบ้าง
A : ก่อนที่คุณจะเข้ามาอยู่ในครอบครัว AFS นั้น คุณจะต้องผ่านด่าน 2 ด่านก่อน คือ การสอบข้อเขียน และ การสอบสัมภาษณ์ ตามที่บอกไว้แล้วว่า AFS Thailand มีเครือข่ายทั่วประเทศ สนามสอบ ก็ มีทั่วประเทศ ดังนั้นไม่ต้องห่วงว่า เพื่อนๆที่อยู่ไกล ไม่ได้อยู่กรุงเทพ จะไม่มีโอกาส กลับกันเลย ทุกคน ทั่วประเทศ ล้วนมีโอกาสหมดครับ ติดต่ออาจารย์แนะแนวในโรงเรียน เพื่อหาใบสมัคร


ด่านแรก : สอบ ข้อเขียน

การเตรียมตัว
:: เมื่อเพื่อนๆได้รับใบสมัครมาจากอาจารย์แล้ว ก็กรอกไปให้หมดเลย ติดรูป แล้วไปส่งที่สำนักงาน AFS ใกล้บ้านท่าน หรือ กับอาจารย์ จะเสียค่าธรรมเนียมสอบ 200 บาท แล้วเราจะได้เอกสารมาดังนี้

- บัตรผู้เข้าสอบ เก็บไว้ดีๆ ห้ามทำหาย
- ตัวอย่างข้อสอบของรุ่นก่อนๆ

สิ่งที่เพื่อนๆ น่าจะเตรียมตัวในการ ทำข้อสอบข้อเขียนนั้น คือ

- เตรียมปรับตัวให้เข้ากับสนามสอบ เพราะสถานที่สอบ คือ โรงเรียน แต่โรงเรียนนั้น อาจจะไม่ใช่โรงเรียนของคุณ แต่เป็นโรงเรียนซักแห่ง ที่คุณ ไม่คุ้นเคย อย่างผม ผมเรียนสาธิตเกษตร แต่สอบที่ สารวิทยา ไม่เคยเข้าไปในโรงเรียนนั้นมาก่อนในชีวิตนี้-*- ดังนั้นขอให้ แค่เดินเข้าไปในห้องสอบ หาเพื่อนที่เรารู้จัก ชวนๆไปสอบด้วยกัน ยังไงก็ยึดติดด้วยกันไว้ เพราะเราอยู่ในสถานที่ไม่คุ้นเคย เมื่อเข้าห้องสอบ ก็กักตัวเอง อยู่ในโลกของเรา อย่าไปสนใจสิ่งภายนอก แค่สนใจกับข้อสอบ แล้วค่อยๆนึก

- ข้อสอบที่บอกว่า เป็นข้อเขียน อันที่จริงแล้ว ก็เป็น ตัวเลือกน่ะแหละครับ ไม่มีเขียนเรียงความยืดยาวอะไรแบบนั้น ข้อสอบ จะแบ่งเป็น 2 อย่างคือ กระดาษข้อสอบ ที่จะทำเป็นเล่ม และกระดาษคำตอบ ซึ่งใช้วิธี ฝนด้วยดินสอ 2B หรือเข้มกว่านั้น ข้อสอบมีประมาณ 100 ข้อครับ

- ตอนสมัคร เราจะได้ตัวอย่างข้อสอบของรุ่นก่อนๆ พร้อมเฉลย อย่างน้อย เราน่าจะลองทำดู แล้วเช็คคำตอบ แล้วรวมคะแนน ลองจำแนวๆข้อสอบมาเสีย





แนวข้อสอบ

ข้อสอบข้อเขียนนั้น เราจะสอบ พร้อมกันทั่วประเทศ เป็นช่วงเช้า เวลาประมาณ 9.00-12.00 ถ้าเราจำไม่ผิด คุณมีเวลาสอบ เยอะพอสมควร และข้อสอบ จะแบ่งเป็น 2 ลักษณะใหญ่ๆ คือ

1. ชุดภาษาไทย
2. ชุดภาษาอังกฤษ


ชุดภาษาไทย จะมีเนื้อหาเกี่ยวกับ ข่าวสาร บ้านเมือง ข่าวเด่นๆดังๆของโลก ข่าวในประเทศ ถามเกี่ยวกับความรู้รอบตัว และจะมีสำนวนไทยเล็กน้อย รวมไปถึง ถามความเห็นของเรา เกี่ยวกับข่าวสาร และยังมีการยกสถานการณ์มา แล้วถามว่า เราจะทำอย่างไร กับสถานการณ์นั้น?

ชุดภาษาอังกฤษ จะมี

Reading(การอ่าน) / ที่เราเจอคือ เขาจะยกข้อความยาวๆบ้าง สั้นบ้าง หรืออาจจะเป็นป้ายโฆษณา แม้แต่ เมนูอาหาร เขาจะยกมา แล้วถามเรา ดังนั้น อ่านดีๆ อ่านทวนหลายๆรอบ บางครั้ง คุณอาจจะอ่านข้ามสิ่งสำคัญไป หรือ อาจจะยังตีความข้อความนั้น ไม่เคลียร์ ยังไม่เข้าใจ แต่อย่าปล่อยมันไป อย่านึกว่า แค่จุดเล็กๆ ข้ามไปก็ได้ ยังไงก็ ลองอ่านทวนๆ แล้วลองหาความเป็นไปได้ ลองค่อยๆคิดว่า มันจะแปลว่าอะไร อย่าเพิ่งด่วนข้าม โดยสิ่งที่เขาถาม จะถามตามเนื้อเรื่องเป็นส่วนใหญ่ อาจจะต้องคิดบ้าง และบางคำถาม จะเป็นแบบ นอกเรื่อง หรือ ถามต่อไป โดยคำตอบ ไม่ได้อยู่ในข้อความนั้น แต่เราต้องคิดต่อ

หรือบางข้อ จะเป็นข้อความที่ยกมา แล้วถาม Main Idea หรือความคิดรวบยอด คอนเซปหลัก ว่าคืออะไร อย่างเช่น ถ้าเราจะอธิบายยืดยาวเกี่ยวกับเบอร์ตี้บอตต์ กบช็อกโกแลต เขาถาม Mai Idea เรา เราก็น่าจะตอบว่า ขนมของพ่อมด แม่มด เป็นการถามคอนเซปหลักน่ะครับ

หรือ อาจจะมีข้อความยาวๆ แล้วเว้นช่วง ให้เราเติม อันนี้ ลองอ่านทวนๆหลายๆรอบ แล้วคิดดีๆว่า มันควรเป็นประโยคไหน เพราะยังไง เขาก็มี ตัวเลือกให้แล้ว

Expression(สำนวน) / Dialog(บทพูด) - ขอรวม 2 อย่างเข้าด้วยกัน ในโจทย์แบบนี้ จะมีรูปแบบของ บทพูดคนนี้ๆๆๆๆๆ คุยกัน โดยอาจจะมีช่องโหว่ ให้เราเติม ว่าควรจะพูดอะไร ทั้งนี้ จะมีเรื่องของ สำนวนเข้ามาเกี่ยวข้อง
เพราะบางประโยค อาจจะเป็นอุทาน อาจจะเป็นการปฏิเสธ อาจจะเป็นคำถาม หรือไม่ก็ตอบโดดๆ หรืออาจจะเป็นประโยคที่แสดงความลังเล ไม่แน่ใจ เราก็หามาเติม โดยที่เขามีตัวเลือกให้แล้ว อันนี้ เราต้องอ่านตั้งแต่ต้นจนจบก่อน จะดีมาก แล้วค่อยๆ คิดไปทีละเปลาะ ว่าช่องไหน ควรเติมอันไหน

และอาจจะถามความรู้รอบตัวอีกเช่นกัน เป็นภาษาอังกฤษ หรือบางคำถาม อาจจะถามอะไรที่เป็นเรื่องทั่วไปว่า ถ้าหาก เกิด...ขึ้นเราจะ......? ประมาณนั้นน่ะครับ

Q : แล้วถ้าเจอศัพท์งงล่ะ?
A : อันนี้ ใครๆก็เจอกันหมด ทั้งข้อสอบ โรงเรียน ข้อสอบแข่งขัน ของ AFS ก็ย่อมมีคำศัพท์ภาอังกฤษที่ชวนงง หากเจอเรื่องแบบนี้(มันก็เจอกันทุกคนแหละ-*-) ก็คิดดีๆ ลองอ่านประโยคก่อนหน้านี้ และประโยคที่อยู่หลังคำศัพท์นั้น หาความเป็นไปได้ เท่าที่เราคิดออก แล้วสร้างเรื่องขึ้นมา ลองใช้ความเป็นเหตุเป็นผลดูว่า คำที่เราไม่รู้จักนี้ มันแปลว่าอะไร คำถามบางข้อ อาจจะถามคำศัพท์ แต่เราก็ไม่ถึงกับต้องมานั่งท่องก่อนเข้าสอบ มันช่วยอะไรไม่ได้หรอกนะ เพราะนี่ไม่ใช่การสอบรายหน่วย มีคอนเซปให้ แต่ AFS เขาจะถามอะไรเราก็ได้ ถามความรู้ต่างๆที่เราน่าจะรู้ หรือถามอะไรที่เราไม่รู้ และต้องมาคิดเอาตรงนั้น

ดังนั้น สำหรับการสอบข้อเขียน ขอให้รู้คอนเซป ทำข้อสอบตัวอย่าง ทำใจว่างๆ แค่นั้นก็คงพอแล้ว ในเวลาทำข้อสอบ ไม่มีใครมากวนคุณ คนในห้องสอบนั้น อาจจะมีเพื่อนคุณ ซึ่งทำให้โล่งใจได้ว่า เออ เรามีเพื่อนนะ แต่บางที เราอาจจะอยู่ในห้องสอบที่มีใครก็ไม่รู้ มาจากต่างถิ่น อย่าปล่อยให้เรื่องนั้นมารังควานคุณ ยังไง ก็ทำๆให้เสร็จ แต่อย่าทำลวกๆ

และที่เราอยากแนะคือ ทำส่วน ภาษาอังกฤษก่อน ก็จะดีนะ เพราะเราก็ทำแบบนั้น^^’ ที่ทำอังกฤษก่อน เพราะ มันต้องคิดเยอะกว่าอยู่แล้ว และนึกดู หากทำภาษาไทย ซึ่งมันก็ปวดหัวไม่แพ้กันล่ะ แล้วมาเจอภาษาอังกฤษ ซึ่งมันน่าปวดหัวกว่านั้นอีก มันอาจจะทำให้เราคิดไม่ออก ดังนั้น พลังยามเช้านี่แหละ หัวเรายังโปร่งๆ ก็ทำส่วนที่เราว่ายากกว่าก่อน หรือบางคนอาจเก่งอังกฤษ สบายปร๋อ ก็แล้วแต่จะทำอะไรก่อน ขอแค่ ให้เรายังทีแรงทำสม่ำเสมอไปจนจบ ไม่ใช่ว่ายิ่งทำไป ชั้น ไม่ไหวแล้ว ><” อ่อ อันนี้ เกร็ดเล็กน้อย มีคำถามที่แปลกที่สุดที่เราเคยเจอมาในข้อสอบนั้น คือ เขาให้เราคิดเปอร์เซ็นต์ เป็นภาษาอังกฤษ-*- จนถึงตอนนี้ ยังไม่หายสงสัยเลยว่าเราตอบถูกมั้ย-*- คำแนะนำล่วงหน้าก่อนสอบก็คือ ถ้าคนไหนได้คะแนนวิชาภาษาอังกฤษดีอยู่แล้วก็ไม่ต้องห่วงมากครับ ตั้งใจทำข้อสอบ ใช้ความรู้ที่มี แล้วถ้าฝึกด้านการอ่านไว้ด้วยก็จะยิ่งดี ลองอ่านหนังสือภาษาอังกฤษ เรื่องสั้นๆก็ดีครับ เราควรใส่ใจกับการพัฒนาภาษาอังกฤษมากกว่าเพราะข้อสอบในส่วนภาษาไทยก็ไม่ได้ลงลึกในด้ านหลักภาษาเท่าไวยากรณ์ภาษาอังกฤษเลย ยิ่งถ้าใครเคยสอบข้อสอบจำพวก TOEFL / SAT ก็วางใจได้ครับ
------------------------------------------------------




ปล. และตอนนี้ วันรับสมัคร ก็ใกล้เข้ามาเรื่อยๆแล้วนะครับ ตอนแรกคิดว่า จะเก็บไว้โพสตอน บอร์ดใหม่ แต่คิดอีกที โพสตั้งแต่ตอนนี้เลย อยากให้เพื่อนๆได้รู้กันครับ

และหากใครมีอะไรสงสัย ต้องการให้เราช่วยเหลือเรื่อง AFS นี้ เรายินดีช่วยเต็มที่ครับ add ได้เลย

*รบกวนน้องจะถามเรื่อง AFS แนะนำตัวและบอกด้วยน้าว่าจะถามเรื่อง AFS บางทีถามมาหลายคนพี่จำไม่ได้
หรือถ้าไม่ได้ตอบต้องขอโทษด้วยนะครับ บางทีออนแต่ไม่ได้อยู่ตรงนั้นครับ

tanba_jing@hotmail.com พร้อมยินดีช่วยเพื่อนๆเสมอครับ smile.gif



>>>>>>>>>>>>>>> ติดตามต่อ ภาค 2