วันจันทร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2553

โครงการเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์

เมื่อสมัยผมอยู่ ม. 5 ผมได้เคยลองไปสัมผัสประสบการณ์ไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนโครงการ AFS ผ่านมา เมื่อตอนนั้น จำได้ว่า AFS ทำให้เราได้พบกับประสบการณ์ที่ดีที่สุดในชีวิตครั้งหนึ่ง...

ผ่านมาแล้ว 5 ปี จนได้เข้ารั้วมหาวิทยาลัย ไม่เคยคิดว่า ตัวเองจะได้หวนคืนสู่ความทรงจำแบบเก่าๆ อีกครั้งหนึ่ง แต่เต็มเปี่ยมไปด้วยความแปลกใหม่ที่เป็นประสบการณ์ที่สุดยอดกว่าเดิม นั่นก็คือการได้ไปร่วม "โครงการเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์" หรือ The Ship for Southeast asian Youth Programme (SSEAYP)

บางคนอาจจะเคยได้ยินว่า "เฮ้ย นายไปเรือมาหรอ" "ไปโครงการเรือเยาวชนมาค่ะ" ตอนแรกสมัยที่เราไม่รู้จักโครงการนี้ก็งงว่ามันเรืออะไร เรืออีแจว เรือหางยาว? อะไรของมัน... แต่อย่างไรก็ตามโครงการนี้เป็นอีกโครงการที่เก่าแก่ไม่แพ้ AFS และมีความโดดเด่นมาก

Q : แล้ว โครงการเรือนี่มันคืออะไรล่ะ?
A : โครงการเรือฯ หรือ โครงการเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์ "The Ship for Southeast asian Youth Programme" เรียกย่อๆว่า SSEAYP (คนมักเรียกง่ายๆว่า เซี๊ยบ! เหมือนคำอุทานเป็นภาษานกกระจอก อะไรซักอย่าง) เป็นโครงการที่จัดโดยรัฐบาลประเทศญี่ปุ่นเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่าง ญี่ปุ่น กับ ประเทศในกลุ่มอาเซียน ซึ่งจะเปิดโอกาสให้เยาวชนจากญี่ปุ่น และ อาเซียนได้เดินทางไปยังประเทศญี่ปุ่น และ ประเทศอาเซียน รวมแล้วใน 1 ปี จะเดินทางไปทั้งหมด 6 ประเทศ ปัจจุบัน โครงการเรือได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลทุกประเทศ และก้าวเข้าสู่ปีที่ 37 แล้ว




Q : โครงการ เซี๊ยบ!!!(SSEAYP) เนี่ยมันมีความโดดเด่น และพิเศษอย่างไร?
A : โครงการเรือ จะเป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้เยาวชนจาก อาเซียน(ASEAN) และญี่ปุ่น ได้เข้ามาแลกเปลี่ยนความรู้ โดยที่ทุกคนจะเดินทางไปรวมกันที่ญี่ปุ่น และทำกิจกรรมเป็นเวลาสองอาทิตย์ ก่อนที่จะได้ขึ้นเรือสำราญชื่อดังของญี่ปุ่นชื่อว่า "Nippon Maru" ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนไปใช้เรือ "Fuji Maru" ซึ่งเรือจะแล่นไปเยือนประเทศ ASEAN ต่างๆ ซึ่งแต่ละปีจะแวะไปในประเทศที่ไม่เหมือนกัน และเมื่อเรือแวะเยือนตามประเทศต่างๆ เราจะได้ไปอาศัยอยู่กับ Host Family ประเทศละ 3 วันด้วย ส่วนกิจกรรมบนเรือ จะมีทั้งวิชาการ และความสนุกสนาน รวมถึงการแสดง และเพลินไปกับทิวทัศน์ของมหาสมุทรแปซิฟิค และน่านน้ำประเทศต่างๆ ชมพระอาทิตย์ตก นั่งปาร์ตี้ที่กาบเรือ ดีไม่ดีก็อาจจะได้เจอปลาโลมา ปลาวาฬ และปลาฉลาม(ที่พูดเพราะเจอมาแล้ว) มาว่ายเคียงเรืออีก โอว มันโรแมนติกจริงๆ

Q : ระยะเวลาของโครงการใช้เวลาเท่าไหร่?
A : ใช้เวลาโดยประมาณ 2 เดือนกว่า เริ่มจาก ใช้เวลาที่ญี่ปุ่น 10 วัน และอีก 40 กว่าวันที่เหลือจะเป็นการใช้ชีวิตบนเรือ และเยี่ยมประเทศในแถบอาเซียน ประเทศละ 3 วัน รวมแล้วก็ประมาณ สองเดือนครับ (อย่างปีที่ผมไปมา ไป 53 วันครับ)


Q : ได้ขนาดขึ้นเรือสำราญ 2 เดือน ค่าใช้จ่ายล่ะ... แพงแน่เลย
A : ฟังแล้วอย่าตกใจ แต่ทั้งหมดนี่คือฟรี ไม่ต้องเสียเงินเลยครับ รัฐฯญี่ปุ่นจ่ายให้พวกเราทุกคน ซึ่งเขาจะถือว่าเราเป็นแขกของประเทศนั้นๆ ดังนั้นนี่เป็นโอกาสที่เราจะได้ใช้เวลาในการหาประสบการณ์ใหม่ๆ แต่การที่เราได้ไปฟรี เราก็จะได้สร้างประโยชน์แก่สังคมด้วยเช่นกัน เท่ไหมละ ได้ขึ้นเรือสำราญและทำประโยชน์ด้วย

Q : แล้วประเทศที่ร่วมโครงการ มีประเทศไหนบ้าง และรับกี่คน?
A : รวมแล้วบนเรือจะมี 11 ประเทศร่วมโครงการ โดยที่จะมี ประเทศญี่ปุ่นเป็นตัวหลัก ตามด้วยชาติ ASEAN อีก 10 ประเทศ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย กัมพูชา ลาว บรูไน และ พม่า ในหนึ่งประเทศจะมีเยาวชน 28 คน ใช้ชีวิตร่วมกันตลอด 2 เดือน(ยกเว้น ญี่ปุ่น ที่จะมีประมาณ 40 คน เพราะเขาเป็นผู้จัดโครงการนี้ขึ้นมาครับ)


มาพอหอมปากหอมคอ กับการแนะนำโครงการ ตอนนี้เรามาดูวิดีโอเลยดีกว่า จะได้รู้จัก "โครงการเรือฯ" หรือ เซ๊๊ียบ!" มากขึ้น





อะ หวังว่าจะพอเห็นภาพมากขึ้นนะครับ :)

ทีนี้เรามาดูกันเลยว่า จะต้องเตรียมตัว และทำอย่างไร ที่จะได้เป็นส่วนหนึ่งของคณะเยาวชนที่จะได้ขึ้นเรือ Fuji Maru



รอบแรก! ข้อเขียน!


ในหนึ่งปี หน่วยงานที่รับผิดชอบของโครงการเรือจะเป็น สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็กและเยาวชนผู้ด้อยโอกาส และผู้สูงอายุ หรือ สท. จะเปิดรับสมัครในช่วงเดือน "เมษายน" การคัดเลือกจะมี 2 รอบซึ่งจะอธิบายในต่อๆไป แต่การสมัครคัดเลือกรอบแรก จะแบ่งเป็น 2 แบบ คือ

1. เยาวชนทั่วไป - ก็จะเป็นเยาวชนทั่วไป ตามชื่อ จากทุกแห่งทุกมุมของประเทศ เยาวชนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเยาวชนจากครอบครัวเจ้าภาพเยาวชน ที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ในประกาศรับสมัคร กลุ่มนี้จะต้องสอบข้อเขียนจากส่วนกลาง และจะต้องสอบที่ กทม. ครับ

2. เยาวชนตัวแทนจังหวัด - อันนี้ก็จะเป็นเยาวชนจากทุกแห่งหนในประเทศเช่นกัน แต่จะต้องยื่นที่ศาลากลางจังหวัด หรือ หน่วยงานที่รับผิดชอบในจังหวัดตามทะเบียนบ้านของเพื่อนๆครับ การคัดเลือกแบบตัวแทนจังหวัด ซึ่งอาจจะไม่ต้องผ่านการสอบข้อเขียน หรือจะเป็นการสัมภาษณ์แทน ซึ่งขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแต่ละจังหวัด

ใน 2 แบบนี่จะไม่ได้เจอกันในรอบแรกเลยนะครับ ต่างคนต่างอยู่ เอ็งมายังไงก็มาทางงั้น แม้แต่การคัดรอบ 2 ก็ไม่ต้องมาแข่งกัน เพราะเขามีโควต้าให้ทั้ง 2 แบบได้ผ่านการคัดเลือกมาในสัดส่วนที่เท่ากันครับ

---------------------------------




แต่เวลาสมัคร ต้องเลือกแค่แบบเดียวนะครับ! ถ้าเล่นเหมาทั้งสองแบบ(จริงๆก็แอบอยากทำ ถ้าเขาให้ทำ) เขาจะตัดสิทธิ์เราทันทีครับ ดังนั้นเลือกดีๆ ในใบสมัครก็จะมีคำถามเกี่ยวกับโครงการเช่น คิดว่าโครงการนี้จะให้อะไรกับเรา หรือ เราจะทำอะไรแก่อาเซียนได้บ้าง ก็ตอบดีๆเพราะมันอาจจะมีผลต่อการสอบสัมภาษณ์ในอนาคต ตรงนี้ก็จะมีเทคนิกการสมัครให้กับแต่ละประเภท ตามนี้ครับ


1. เยาวชนทั่วไป - เหมาะกับผู้ที่มีพื้นฐานภาษาอังกฤษดีในระดับปานกลางถึงดีมาก เพราะจะต้อเจอกับข้อสอบภาษาอังกฤษ (ทั้งหมด)

สอบข้อเขียนจะใช้เวลาสอบทั้งหมด 3 ชั่วโมง แบ่งเป็น 4 Part คือ
ขอบคุณพี่ชาร์ลีแมนน สำหรับข้อมูลนะเอย! (ไปมารุ่นเดียวกันครับ)

1. Structure/Grammar (20 คะแนน)
2. Reading Comprehension (20 คะแนน)
3. Translation แปลบทความจากอังกฤษเป็นไทย (30 คะแนน)
4. Essay หรือ เรียงความ (30 คะแนน)

Part 1,2 จะออกอารมณ์คล้ายๆ TOEFL / IELT ครับ Structure + Grammar จะเป็นการเติมคำ ขณะที่ Part 2 Reading จะเป็นการอ่านเน้นทำความเข้าใจ และมีคำตอบให้เลือก ซึ่งจากที่ดูมา ไม่ได้ยากถึงขั้น TOEFL และ IELT แต่ก็ต้องเตรียมมาดีๆครับ

Part 3 อันนี้ปราบเซียนเลยทีเดียว เพราะเราจะต้องแปลบทความ ซึ่งส่วนมากจะต้องแปลข่าว(อาจจะเกี่ยวกับอาเซียนด้วย) จากภาษาอังกฤษ มาเป็นไทย ซึ่งอาจจะยากตรงการที่มันมีศัพท์เฉพาะเยอะๆ ดังนั้นก็ถ้าอยากผ่านฉลุย เราต้องลองอ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์ต่างประเทศไว้ก็ดี หรือต้องเดาละครับ อย่างน้อยการแปลอาจจะไม่ต้องเป๊ะเว่อร์ แต่ขอให้จับใจความสำคัญของเนื้อข่าว และเรียงมาให้ถูกต้อง การใช้ภาษาก็สำคัญเช่นกัน

Part 4 Essay - คล้ายๆกับการสอบอัตนัย แต่ก็ต้องตอบเป็นภาษาอังกฤษครับ ตรงนี้เขาจะมีหัวข้อเลือกให้เราเลือกที่จะเขียนอภิปราย ไม่รู้ละ อาจจะเป็นหัวข้อ ASEAN / เสื้อเหลืองเสื้อแดง / พระราชกรณียกิจในหลวง / ไข้หวัดนกหวัดหมู ซาร์ส์ อะไร ก็ต้องเรียบลำดับ และเขียนให้ชัดเจน... ไม่ใช่ยาวเอา แต่ไม่มีเนื้อหาครับ

เวลาทำข้อเขียนเหล่านี้ก็ต้องตั้งสติกันนิดนึง และรอบคอบ อย่างไรก็ตามก็ขอให้ใช้ความรู้ที่มามาเขียนบรรยาย และตอบให้ได้ครับ





2. เยาวชนตัวแทนจังหวัด - รูปแบบของตัวแทนจังหวัดจะเป็นการเปิดโอกาสให้เยาวชนที่อาจจะไม่ถนัดภาษาอังกฤษระดับสูงมาเข้าร่วมโครงการ ทำให้ใน 28 คนมีความหลากหลายมากขึ้น ดังนั้น ถ้าไม่มั่นใจว่าจะทำข้อเขียนได้ ก็สามารถสมัครในรูปแบบนี้ครับ แต่สิ่งที่เราต้องเข้าใจคือ บางจังหวัดเขาอาจจะให้เราสอบข้อเขียนเช่นกันนะ(เช่น เชียงใหม่) บางจังหวัดอาจจะมีการสอบสัมภาษณ์ หรือบางจังหวัด ก็อาจจะไม่ทำอะไรเลย! (อันนี้ดีที่สุด) แต่สุดท้าย แต่ละจังหวัด จะคัดเลือกเยาวชนมาให้เหลือจังหวัดละ 5 คน เพื่อส่งเป็นตัวแทนจังหวัดมาแข่งกันในรอบสุดท้าย คือการสัมภาษณ์(สำหรับการสัมภาษณ์ระดับจังหวัด สามารถอ่านได้จากการสอบสัมภาษณ์รอบ 2 ได้เลยครับ เพราะรูปแบบเมือนกัน)




รอบ 2 !! สอบสัมภาษณ์

เช่นเดียวกับ AFS ที่การสอบคัดเลือกต่างๆ ย่อมมาวัดกันที่การสอบสัมภาษณ์ เพราะในรอบแรก กรรมการที่เป็นผู้ตรวจคะแนน อาจจะเห็นว่าเพื่อนๆที่ผ่านรอบแรกมา มีคุณสมบัติด้านภาษา หรือมีความรู้และความสามารถที่ทำให้เราสามารถเข้าเกณฑ์แล้วในระดับหนึ่ง

การสอบสัมภาษณ์รอบนี้ ก็เรียกว่าเป็นการมาให้กรรมการเห็นหน้าค่าตา ว่าหน้าตาสวยหล่อพอที่จะไปหรือเปล่าหว่า... ไม่ใช่! เขาจะมาดูว่าเรามีคุณสมบัติพอที่จะไปร่วมโครงการหรือไม่ หัวใจสำคัญไม่ใช่ว่าเราจะต้องพูดภาษาอังกฤษเก่งโคตรรร หรือ มีพรสวรรค์เก่งมาจากชาติที่แล้วถึงจะได้ไปโครงการเรือ ไม่ใช่ ไม่ใช่ และไม่ใช่ครับ ใครมาขู่ว่าเอ็งต้องยังงี้ยังงั้นนี่ด่ากลับได้เลย เพราะ สิ่งที่เขาต้องการสำหรับเยาวชนที่จะได้ไปโครงการเรือคือคนที่มีทัศนคติมุมมองที่ดี เข้ากับคนอื่นได้ และไม่ไปทำให้ใครเขาเดือดร้อน ง่ายๆแค่นี้เองครับ เขาอยากได้คนที่เหมาะแก่การไป เหมือนคัดเลือก AF เลย อันนี้ไม่ได้พูดเล่นๆนะ แต่ AF เองก็ไม่ได้คัดคนที่ร้องเพลงตัวแม่พ่นไฟมาหมดทุกคน แต่เขาเลือกคนที่สามารถ พัฒนาต่อได้ หรือมีอะไรบางอย่างที่จะสร้างสรรค์สิ่งดีๆแก่คณะเยาวชน 28 คนของประเทศไทย

Q : แล้วเราต้องทำอย่างไร เตรียมตัวยังไงสำหรับการสอบสัมภาษณ์?
A : ทั้งสองประเภทเลยครับ ทั้งเยาวชนทั่วไป และผู้แทนจังหวัด ตอนนี้เราจะเท่าเทียมกันแล้ว ทั้งสองประเภท จะถูกคัดจาก 200 คน เหลือ อย่างละ 14 คน(เพศชายหญิง มักจะมีสัดส่วนเท่ากัน) ก็คือ ส่วนกลาง 14 คน / ตัวแทนจังหวัด 14 คน

ห้องสอบ

ห้องสอบ จะอยู่ที่ สท. ชั้น 3 (สท. อยู่ใน โปรดหาเองนะจ๊ะ) โดยที่ห้องสอบจะมี 2 ห้อง แบ่งชัดเจน ห้องหนึ่งสำหรับเยาวชนทั่วไป และอีกห้องสำหรับ ผู้แทนจังหวัด ในวันนั้น อาจจะได้เห็นทั้งคนแจ่งชุดนักศึกษา ชุดสูท หรือชุดนางรำมโนราห์ - -' นี่ถ้าใครใ่ส่ชุดหลินปิงมาคงจะเป็นปรากฎการณ์ใหม่เลยทีเดียว แต่นั่นละครับ อยากจะ Present ตัวเองอย่างไร นี่เป็นโอกาส แต่ต้องเป็นเหตุเป็นผล

หัวข้อการสัมภาษณ์ สิ่งที่จะเกิดขึ้นในห้องสอบ

การสัมภาษณ์ ก็ยังคงความคล้ายแก่การสัมภาษณ์ทั่วๆไป ก็คือต้องมีการ แนะนำตัวเอง "เป็นภาษาอังกฤษ" ดังนั้นก็ต้องคิดดีๆว่าเราจะ present อะไรที่เป็นตัวเรา จะพูดคล่องอยู่แล้ว ชั้นแนะนำตัวบ่อย หรือจะฝึกพูดท่องหน้ากระจกเช้าเย็นหลังอาหาร ก็ตามใจครับ แต่ขอให้เราต้องเป็นธรรมชาติ ชื่อ นามสกุล อายุ ปัจจุบันทำอะไร เรียนอะไร ที่ไหน ทำงานอะไร ชอบเลี้ยงหมาเลี้ยงแมว ก็ว่าไปครับ การแนะนำตัวนี่สำคัญเลยเพราะจะเป็น First Impression แก่กรรมการ

ลืมบอกเลย กรรมการในห้องจะมีประมาณ 5-6 คน มักจักเป็นที่เล่าขานกันว่าบางคนนี่ก็โหดเหลือเกิน บางคนนี่ก็ใจดีมาก แต่ที่อยากบอกก็คือ ทั้งหมดนี้ เป็นการวัดใจเราเท่านั้นเองว่าเราจะมีการตอบสนอง(ฟังดูเหมือนชักกะตุก) ยังไง คล้ายๆกัน ถ้าเขาถามหน้าบึ้งมาแล้วเราห่อเหี่ยว โอ้ยยย ฉันจะทำไง เขาหน้าบึ้ง เขาไม่เอากรูแน่.... อย่าไปยอมแพ้ครับ ยิ้มไว้ บางทีท่านกรรมการอาจจะฟอร์มหลุดก็ได้!

- การมีแฟ้มสะสมงาน(Port Folio) ก็อาจจะเป็นตัวช่วยเล็กๆที่สามารถทำให้คณะกรรมการ ได้รู้จักเรามากขึ้น เราอาจจะยื่นแฟ้มนี้ให้ท่านด้วยตัวเองตั้งแต่เริ่ม หรือหาจังหวะที่ดี ส่งให้ท่าน มันจะเป็นการทำให้กรรมการได้รู้จักเรามากขึ้นในเวลา 10-20 นาทีของการสัมภาษณ์

- บุคลิก ท่าทาง การนั่ง สีหน้า เป็นสิ่งรองๆ แต่สำคัญ ในการสร้างความน่าเชื่อถือ สถานที่ๆสัมภาษณ์จะเป็นห้องประชุม เราอาจจะต้องนั่งเผชิญหน้ากับกรรมการ ดังนั้น เราต้องมีความมั่นใจ นั่งหลังตรง ยิ้มไว้ครับ แต่ไม่ใช่เอ็งจะยิ้มจนไม่ได้พูดนะเฟ้ย

- สติ... สำคัญกว่าสิ่งอื่นใด การที่เราตื่นเต้นนี่เป็นปกติเพราะใครๆก็ตื่นเต้นเหมือนกัน บางทีคนก่อนหน้าเรานี่มันเข้าไปในห้องสัมภาษณ์ นานมากกก ก็จิตตก เขาออกมาเล่าฉอดๆๆว่าเจออะไรมาก็ยิ่งก็จิตตกเข้าไปใหญ่ สิ่งที่ต้องคุมให้ได้ก็คือสติครับ ค่อยๆคิด อย่าปล่อยให้ปากเผลอพูดๆๆไปจนลืมว่าเราจะพูดอะไร และแก่นของมันคืออะไร

- การวางตัว... ใช้ได้เสมอ ทั้งในห้องสัมภาษณ์ ไปจนถึงตอนอยู่บนเรือ ถ้าวางตัวดี ก็สร้างความประทับใจ ทั้งหมดมาจากข้อข้างบนรวมๆกันนี่แหละครับ เราต้องอยู่ในความพอดี บนฐานของตัวตนของตัวเอง เราต้องงัดจุดเด่นของเราออกมา ขณะเดียวกันก็อย่าเวอร์ อย่าโม้มาก และก็ไม่หนิมๆจนเป็นใบ้ อุ้ย เขิล ไม่เอา! ต้องอยู่พอดีๆครับ


สิ่งที่ท่านกรรมการจะถาม...

บอกได้ 108 ครับ เป็นไปได้ทุกอย่าง เขาเลือกจะถามอะไรก็ถามได้หมดครับ จริงๆเขาอาจจะให้ร้องเพลง ให้ทำอะไรแปลกๆก็ได้ อย่างผมยังโดนถามเรื่องคลิป Wondergay(ที่เด็กชุดเขียวเต้นๆๆเพลง Nobody จนดังไปทั่วน่ะครับ) ซึ่งผิดคาดมากกับสิ่งที่เตรียมมา - -' ส่วนเพื่อนอีกคนโดนให้เต้นเพลง Nobody ก็ไม่ทราบว่าปีนั้นกรรมการชอบอะไรกับเพลง Nobody นัก แต่ก็ดีครับ น่ารักดี ^3^

แต่สิ่งที่เป็นคำถาม ยอด ฮิต เลย ก็จะเป็นตามนี้ครับ

- ข่าวสารบ้านเมือง ---> สำคัญที่สุด มีโอกาสโดนเยอะ เป็นหน้าที่ของเพื่อนๆเลยที่จะต้องไปศึกษาข่าวในรอบ 2-3 เดือนนี้มา(หรือมากกว่ายิ่งดี) ตรงนี้ใครที่ดูข่าวเป็นประจำจะได้เปรียบ สิ่งที่เขาถาม มักจะถามมุมมองของเรากับข่าว อย่างปีผมที่ผมโดนถาม(ปี 2552) ก็จะมีเรื่องข่าวน้องเคอิโงะ ว่าคิดยังไงกับเรื่องนี้ และยังมีเรื่อง คิดอย่างไรกับข่าวหลินปิง ที่ประโคมมาเยอะมาก(ช่วงนั้นมาทุกวันเพราะน้องแกพึ่งเกิด) และมีเรื่องของ "เขาพระวิหาร" ว่าถ้าเราเป็นผู้บริหารประเทศ จะลองแก้ไขปัญหาอย่างไร ขาดไม่ได้เลยคือเรื่องการเมือง เสื้อเหลืองเสื้อแดง ตอนนี้มีหลากสีอีก เขาอาจจะอยากรู้ว่าคุณคิดยังไง จะทำอย่างไรให้บ้านเมืองปรองดองกัน และจะมีส่วนในการสร้างประเทศให้เจริญอย่างไร?

อันนี้มันจะละเอียดอ่อนมาก สำหรับใครที่เป็นนักพูดอยู่แล้วน่าจะไม่มีปัญหา แต่สำหรับผม ผมต้องใช้เวลาประมาณ 1 อาทิตย์ลองเขียนเลยว่า ถ้าเขาถามมาแบบนี้ จะตอบแบบไหนที่จะดีที่สุด ลิสท์คำถามเกี่ยวกับข่าวสารมาโดยคร่าวๆ บางทีอาจจะไม่ต้องทำแบบผมก็ได้ครับ แต่ถ้าทำก็จะดีเพราะ จะทำให้เราได้ไอเดียเกี่ยวกับข่าวนั้น แต่ไม่ใช่ว่าเราจะท่องจำเข้าไปนะครับ อย่าท่องจำ การตอบคำถามเรื่องมุมมอง เราต้องเป็นตัวของตัวเอง

- ถามเรื่องเกี่ยวกับความรู้รอบตัว ----> สำคัญไม่แพ้ข่าวสาร เขาอาจจะถามเรื่องเกี่ยวกับ อาเซียน และ ญี่ปุ่น ว่าอาเซียนมีประเทศอะไรบ้าง และอาเซียนจะกลายเป็นประชาคมรวมกันเมื่อไหร่?.... หรือ พม่ามีเมืองหลวงใหม่ ชื่ออะไร โอยย สารพัดครับ ดีไม่ดีอาจจะโดนถามเกี่ยวกับโครงการเรืออีก สำหรับเพื่อนๆที่ยังไม่ได้ไป อาจจะงงว่าถามทำไม ก็ยังไม่ได้ไป แต่อันที่จริง เขาอาจจะไม่ได้ต้องการให้เราตอบถูกแป๊ะ แต่อยากรู้เฉยๆ ดังนั้นเราก็ต้องทำให้ดีที่สุดครับ เช่นเดียวกับความรู้รอบตัว บางทีถ้ารู้อยู่แล้วก็โชคดีไป แต่ถ้าไม่รู้ มีแค่สองอย่างคือมั่ว หรือ ยอมรับไปซะดีๆว่าไม่ทราบ แต่ก่อนจะตอบแบบนี้ขอให้แน่ใจก่อนว่าพยายามเต็มที่แล้ว และตอบเขาดีๆนะครับ

- คำถามเกี่ยวกับที่มาที่ไปของเรา -----> เช่น... ทำไมถึงอยากไปโครงการเรือ? ใครแนะนำ? ที่เรียน ที่ทำงานของเราเป็นอย่างไร? อาจจะเป็นการแนะนำตัวเองอีกแบบ

- ถามทัศนคติ หรือการแก้ไขสถานการณ์ -----> ส่วนนี้แนะนำว่า แค่ใจเย็นๆ ฟัง คิด แล้วค่อยตอบ ทุกอย่างจะง่ายขึ้นมาก กรรมการแค่อยากจะรู้ว่า ถ้าเราอยู่ในเหตุการณ์แบบนี้นี้นี้นี้ จะแก้ไขแบบไหน???? เช่น... ถ้าเราสื่อสารกับเพื่อนต่างชาติไม่ได้ จะทำแบบไหน หรือ ถ้าเราเกิดมีปัญหากับเพื่อนบนเรือล่ะ? จะแก้ไขยังไง หรือเราอาจจะโดนว่า "ถ้าปีนี้ไม่สอบไม่ติดโครงการเรือ จะเป็นยังไง?" ทั้งหมดนี้เป็นไหวพริบที่เพื่อนๆต้องลองใช้จินตนาการ คิดไว้ล่วงหน้า หรือแก้ไขปัญหาตอบตรงนั้น ใช้อิสระตามที่ตัวเองมอง แต่ไตร่ตรองดีๆ เพราะกรรมการคงไ่ม่น่าจะอยากให้เราตอบว่า "ถ้าสื่อสารไม่ได้ก็พยายามหลบออกไป" หรือ "ถ้าสอบไม่ติดคงจะเสียใจมาก" ใช่ไหมครับ ดังนั้น คิดคำตอบมาดีๆ

- ความสามารถพิเศษ -----> จะมีคะแนนในส่วนนี้ด้วย ความสามารถพิเศษ จะเป็น "ช่วงพิเศษ" ที่เราจะแสดงความสามารถที่มีอยู่ จะทำอะไรก็เชิญครับ ร้องรำทำเพลง หิ้วขลุ่ย หิ้วขิม จะเข้ เปียโน แซ็ก คลาริเน็ต โอโบ ไวโอลิน รำไทย รำโขน ปักขนนก กินรีสีรุ้ง โอยยย แต่ละปีมีมาทุกเวอร์ชั่น ทำเอารัชดาลัยเธียเตอร์อายเลยทีเดียว แต่ทั้งนี้ก็แนะนำว่า เตรียมมาดีๆ อาจจะแฝงความเป็นไทยไว้ด้วยก็จะดี(อย่างผมหิ้วเปียโนไปเล่น ก็เลือกเล่นเพลงพระราชนิพนธ์) อย่าตื่นเต้นมาก คุณอาจจะถนัดศิลป์ หรือ วิทย์ หรือ วาทะ หรืออะไร งัดออกมาครับ เพื่อนผมอีกคนที่ติดเข้าไปรำมวย อีกคนนั่งวาดภาพเหมือนหน้ากรรมการเพราะมันเรียนศิลปกร บางคนเป็น PR. เอา Powerpoint ไป Present ดังนั้น ความสามารถพิเศษ คืออะไรก็ได้ที่เราสบายใจที่จะทำครับ

ส่วนถ้ากรรมการจะถามอะไรอย่างอื่นก็ต้องไปลองเดาใจดูน้า



โดยปกติแล้วคนนึงจะใช้เวลา 10-20 นาที บางคนอาจจะหนักหน่อย 30 นาที แต่อยากบอกว่า เวลา และความยาวในการสัมภาษณ์ไม่ได้เป็นตัววัดเลยว่าจะติดหรือไม่ติด บางคนคุยแป๊ปเดี่ยวก็รู้ละว่าคนนี้ใช่ บางคนคุยนานเพราะถูกคอ หรืออย่างไรก็ตาม ผมคิดว่ามันไม่ใช่ส่วนหลักๆที่จะทำให้เพื่อนๆเก็บมานั่งคิด มันอยู่ที่ว่า ในเวลาจำกัดที่เราได้มาเนี่ย จะจัดการอย่างไรให้กรรมการได้รู้จักเรา รู้ความสามารถเรา และเราได้แสดงมุมมอง ความรู้แก่กรรมการได้อย่างเต็มที่ที่สุด

Port Folio เองก็เป็นแค่ตัวช่วย หากเพื่อนๆไม่มีก็ไม่ได้ว่าอะไรเลย เพราะเขาก็ไม่ได้ขอให้เอามา จริงมั้ยครับ? ไม่เป็นไรเลย ไม่ต้องเครียดว่าทำไมคนอื่นมีแต่เราไม่มี ไม่ต้อง! มีเท่าไหร่ เอามาเท่านั้น บางคนขนมาตั้งแต่ประกาศนียบัตรสมัยประถม ยันใบทำงาน แต่นี่ก็ไม่ใช่เรื่องผิดนะครับ :)

การตอบคำถาม ไม่ได้จำเป็นว่าจะต้องตอบเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด อยู่ที่ตัวเรา ว่ารู้ตัวดีหรือไม่ว่าจะตอบภาษาอังกฤษได้ไหม ห้องเยาวชนทั่วไป อาจจะตอบเป็นภาษาอังกฤษหมดได้ ขณะที่ห้องผู้แทนจังหวัด อาจจะตอบได้ยาก ผมไม่ได้บอกว่าห้องตัวแทนจังหวัดไม่เก่งภาษาอังกฤษนะ(ในฐานะที่ผมเอง ก็มาจากตัวแทนจังหวัดครับ) แต่หากเรารู้ว่าเราตอบเป็นภาษาไทยได้ดีกว่า ก็จงเชื่อมั่นในสิ่งที่เราคิด และตอบเป็นภาษาไทยได้ ไม่ผิดนะครับ คุณสามารถ "ขอ" ตอบเป็นภาษาไทยได้ ถ้าพูดดีๆ ผมเองก็เคยพูดขอกรรมการตอบเป็นภาษาไทย ไม่ว่าจะตอนสอบ AFS หรือ SSEAYP ก็ตาม ทำสิ่งที่เรามั่นใจที่สุดครับ


สรุปเลยว่า สิ่งสำคัญที่ต้องรู้สำหรับการสัมภาษณ์

1. สติ
2. ข่าวสาร ความรู้รอบตัว
3. บุคลิกภาพ
4. ความสามารถพิเศษ
5. มุมมอง ทัศนะคติ และการให้เหตุผล
6. การวางตัว
7. การนำเสนอตัวเอง



อย่างที่บอกครับ ในห้องสัมภาษณ์ ไม่มีสิ่งที่ถูกผิด แต่เป็นที่ๆเรากับกรรมการจะได้ตอบคำถาม พูดคุย ทำให้รู้จักตัวเรามากขึ้น สิ่งที่เขาต้องการไม่ใช่คนเก่ง หรือคนที่ Perfect แต่เขาต้องการคนที่เหมาะแก่การไปโครงการเรือฯ หากปีนี้ไม่ใช่ปีของเรา ก็ไม่ต้องเสียใจ เพื่อนๆสามารถสมัครใหม่ได้ทุกปี เขารับตั้งแต่ช่วงอายุ 18-30 ปีเลยล่ะครับ

สุดท้าย และท้ายสุดสำหรับการคัดเลือก ก็คือ กลุ่มเยาวชนทั่วไป กับ ตัวแทนจังหวัด กลุ่มที่ผ่านการคัดเลือกมากลุ่มละ 14 คน ก็จะมาเจอกันเสียที รวมเป็น "TPY" ( Thai Participating Youth ) 28 คน สำหรับ 28 คนนี้ ผมก็อยากแสดงความยินดีแก่ TPY หน้าใหม่ๆทุกๆปีว่า เพื่อนๆจะได้พับกับประสบการณ์ล้ำค่าครั้งหนึ่งในชีวิต ระยะเวลาอาจจะดูสั้นเพียงสองเดือน แต่เชื่อเถอะครับ ถ้ามันเป็น 2 เดือน มันก็คงจะเป็น 2 เดือนที่ดีที่สุดในชีวิต ซึ่งมันจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ไว้จะมาเล่าให้ฟังนะครับ แต่การเดินทางของ SSEAYP นั้นไม่ได้มีแค่ 2 เดือน แต่ก่อนหน้าที่คุณจะได้ก้าวเข้าสู่เรือ Fuji Maru เพื่อนๆจะได้รู้จักเพื่อน 28 คน ที่จะต้องร่วมทุกข์ ร่วมสุขด้วยกัน ด้วยงานที่ต้องทำ สิ่งที่ต้องเตรียม จะบีบบังคับให้คุณต้องมาสนิทกันโดยไม่รู้ตัว เผลออีกทีคุณกลายเป็นพี่น้องครอบครัวเดียวกัน และต้องขึ้นไป "ลงเรือลำเดียวกัน" นี่จะเป็นโอกาสพิเศษที่จะทำให้คุณได้มีโอกาสสักครั้งในชีวิต ที่เปิดโลกที่กว้าง รู้จักคนมากขึ้น


บางคนอาจจะมีมุมมองของการ "แลกเปลี่ยน" ไกลมาก จนเลือกที่จะไปแค่ อเมริกา ประเทศยุโรป ไปญี่ปุ่น ไปจีน แต่ในบางครั้ง เราอาจจะลืมไปในความที่เราเป็น"เอเชีย" ลืมไปว่าประเทศเทศเพื่อนบ้านของเราเป็นอย่างไร ลืมไปที่จะเข้าใจเขามากขึ้น เราอาจจะไม่รู้จักประเทศเราดีพอก็ได้ นี่เป็นโอกาสที่เราจะได้รู้จักประเทศใกล้ๆบ้านเรานี่แหละ แต่ความใกล้นี่แหละ จะทำให้เรามองไกล และได้เพื่อนต่างชาติที่จะมีความคล้ายกับคนไทย และมิตรภาพเหล่านี้ จะอยู่อีกนานเท่านาน

SSEAYP คือทุกสิ่งทุกอย่างที่ให้ได้กับประสบการณ์อันล้ำค่านี้ หากใครที่ได้ยินเกี่ยวกับโครงการนี้ ลองมาสมัครเถอะครับ คุณคิดถูกแล้วที่เลือกลองมาสมัครโครงการเรือฯ เพราะนี่เป็นครั้งหนึ่งในชีวิตที่ไม่มีวันลืม





จาก TPY'36




7 ความคิดเห็น:

  1. Greattttttttttttttt! :) I will try my best to be a part of this program, thank you very much for sharing this meaningful experiens and suggestions.

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ23 เมษายน 2555 เวลา 10:54

    อ่านเเล้วเชื่อสนิทใจเลยว่า คุณเหมาะสมกับโครงการนี้จริงๆ
    อ่านเเล้วอยากไป และรู้สึกดี มีกำลังใจขึ้นเยอะ
    จะพยายามเตรียมตัวให้ดี เผื่อโอกาสดีดีแบบนี้จะเกิดขึ้นในชีวิตเราบ้าง

    ขอบคุณที่แบ่งปันค่ะ

    ตอบลบ
  3. ขอบคุณคร้าบ ท่าน แทน แทน

    พ้ม มาร์ท นรา เอ็กพีวาย 38 ขออนุญาตนำบทความดีๆ จาก ท่าน รุ่นพี่ เอ็กพีวาย ทีพีวาย

    ไปประชาสัมพันธ์แนะแนวให้รุ่นน้อง ในจังหวัดของพ้มได้อย่างมั่งน่ะคร้าบ

    ขอบคุณเน้อ

    ตอบลบ
  4. ขอบคุณมากครับเป็บข้อมูลที่เป็นประโยชน์มากๆครับ

    ตอนนี้เครียเรื่องการสัมภาษณ์(การแสดงความสามารถ)มากเพราะเขียนไวว่ามีความสามารถการแสดงดนตรีพื้นเมือง ตีกลองสะบัดชัย+ฉาบล่อ ซึ่งไม่สามารถพกติดตัวไปได้แน่นอน

    แล้วจะเอายังไงดีเนี้ย!!
    เลยต้องคิดใหม่เรื่องการแสดงใหม่เลย

    การพูดภาษาอังกฤษก็พยายามเรียน+ฝึกอยู่เหมือนกัน ไม่แน่ใจว่าถึงตอนนั้นจะมีทักษะการพูดมากขึ้นเท่าไหร่

    ตอนนี้พยายามฝึกสุดอย่าง เป็นกำลังใจให้ด้วยน่ะครับ

    ขุน luthor7corp@gmail.com

    ตอบลบ
  5. ขอบคุณคุณแทนมากจริงๆ ที่เขียนบทความดีๆ ให้อ่าน
    ถ้าได้รับเลือกให้ไปสัมภาษณ์คงต้องเตรียมตัวหนักเลย

    ตอบลบ
  6. ขอบคุณมากคะ ปีนี้สมัครเป็นปีแรก กำลังรอผลสัมภาษณ์อยู่ แต่ก็เตรียมตัว เผื่อมีโอกาสได้ไปสัมภาษณ์ จะพยายามเต็มที่นะคะ

    ตอบลบ