วันจันทร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2553

โครงการเยาวชนนักเรียนแลกเปลี่ยน AFS, ทุกเรื่องราวเกี่ยวกับAFS ภาค 3

อะ ต่อที่ภาคสุดท้าย อันนี้เราจะมาพูดถึงน้องๆที่ได้เริ่มเดินทางไปกับ AFS ไปจนกลับมาแล้ว ไม่ว่าน้องจะได้เดินทางไปยังประเทศไหน แต่พี่หวังว่าบทความนี้จะเป็นการเสนอไอเดียเป็นแนวทางให้น้องๆได้ปรับตัว และใช้ชีวิตที่นั่นอย่างมีความสุขนะครับ

การปรับตัวเริ่มแรก..


เมื่อเราไปถึง หรือก่อนเดินทาง เราต้องนึกแล้วว่า เราต้องจากบ้าน จากคุณพ่อคุณแม่มาใช้ชีวิตอยู่คนเดียว อาจจะเป็นซักแห่งในโลก คุณจะต้องปรับตัวเข้ากับที่นั่นให้ได้ ทั้งเรื่องของสภาพอากาศ เรื่องของการปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมต่างชาติ ไม่ว่าจะภาษา การเข้าเรียน การปรับเข้ากับเพื่อนๆ เราต้องมีเพื่อนครับ

แต่ไม่ใช่ว่า หากเราไปเจอเพื่อนคนไทยด้วยกัน ซึ่งโอกาสมันมีได้ครับ แนะนำเลยว่า อย่าติดกันตลอด ไม่ใช่ว่า เจอเพื่อนคนไทยด้วยกัน ชั้นจะอยู่กับคนนี้ เราช่วยเหลือกัน ... มันไม่ใช่ครับ ถ้าเราอยู่ด้วยกันแบบนั้น มันจะไม่ได้อะไรเลย เราต้องลุยสิครับ หาเพื่อนต่างชาติต่างหาก เพื่อนคนไทยด้วยกัน คุยเมื่อไหร่ก็ได้ ตอนนี้เรามาแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ยังไง ลองเข้าสังคมใหม่ๆจะดีกว่าครับ อย่ามัวพึ่งแต่เพื่อนคนไทย และอย่าคุยโทรศัพท์นานเกิน ไม่ว่าจะคุยกับ คุณพ่อ คุณแม่ เขาแนะมาว่า เดือนละครั้ง 2 ครั้ง ก็ พอแล้ว หากคุยมากกว่านั้น เราอาจจะปรับตัวไม่ได้ครับ แล้วอย่าลืม ค่าโทรศัพท์ของ Host Family - -'

ทางที่ดีที่สุดในการมีเพื่อนคือ ทำกิจกรรม หากเราได้ทำกิจกรรมที่เราชอบ เช่น การเล่นกีฬา ชมรมนั้น ชมรมนี้ แล้วได้ทำงานในสิ่งที่ตัวเองชอบ และเพื่อนๆคนอื่นก็ชอบ ยังไง เราก็ย่อมจะได้เพื่อนแน่นอน และอย่าลืม เรา ต้องปรับตัวเข้าหาเขา ไม่ใช่ให้เขา ปรับตัวเข้าหาเรา และเราก็ต้องช่างคุยหน่อยนะครับ อย่าหมกตัวอยู่ในห้อง MSN อะไรนี่ ต้องตัดทิ้งไปเลย(จากคำแนะนำของพี่ๆ) เพราะถ้าเรามัวหมกอยู่กับตัวเอง ก็อาจจะทำให้ไม่ได้อะไรเท่าไหร่น่ะครับ เราก็สามารถช่วย Host ทำงานบ้านก็ได้ ช่วยทำอาหาร ยังไง ก็พยายามเข้าไปคุย และ ต้องเป็นคนที่มีวินัยในตนเอง ตรงต่อเวลา และห้ามพูดโกหก หัดเป็นคนซื่อสัตย์เอาไว้ หากชาวต่างชาติจับเราเรื่องโกหกได้ เรื่องใหญ่นะจะบอกให้ อาจจะถึงขั้น เลิกเชื่อถือ หากมีอะไร เราพูดตามตรงครับ ผิดคือผิดครับ ยิ่งถ้าชาวต่างชาติ คือ ฝรั่ง ยิ่งง่าย เพราะ ฝรั่งนั้น โกรธง่ายหายเร็ว และพูดตรงมาก คนไทยนี่พูดอ้อมเป็นยากันยุงเลยครับ-*- ถ้าฝรั่งเขาไม่ชอบอะไร เขาก็จะบอกเราตรงๆ แล้วทำความเข้าใจ แล้วก็คือหายกันครับ ดังนั้นถ้าเขาไม่ได้พูดอะไรก็คือดีแล้ว (ถ้าเป็นคนไทยก็คงคิดว่าอาจจะงอนใช่มะ 5555+)

ยังไง เราก็ยังมีคุณพ่อคุณแม่คอยให้กำลังใจครับ เรามาถึงจุดนี้ พ่อแม่ของคุณ ต้องภูมิใจแน่นอนครับ ดังนั้น อย่าทำให้ท่านผิดหวังนะ^^


จากประสบการณ์ของหลายๆคน สรุปว่าเราจะใช้เวลาในการปรับตัวเฉลี่ย 3 เดือนครับ มันก็คงเริ่มจากความเหงา เดียวดายไม่มีเพื่อนทุกคน มีทั้งน้ำตา ความโอดครวญ ความสับสน แล้วเราก็จะหลีกตัวออกมาสักพัก เพราะทั้งในโรงเรียนก็ฟังที่เขาพูดไม่รู้เรื่อง การบ้านก็ทำไม่ได้ เพื่อนก็ไม่มี ดีไม่ดีโดนดูถูกอีก คิดถึงบ้าน คิดถึงเพื่อน บางคนกังวลว่าทำไมเราปรับตัวช้ากว่าคนอื่น เรามีจุดด้อยหรือเปล่า กังวลได้ครับ แต่อย่าคิดซะจนมันพาเราออกห่างจากสังคมเข้าไปอีก

หลังจากที่เราผ่านอะไรพวกนี้แล้ว พอเราเริ่มหยุดคิด และตั้งหลักใหม่ ก๋จะเริ่มขอความช่วยเหลือจากครอบครัวอุปถัมภ์ เพราะเขาจะเป็นคนที่เข้าใจเราดีที่สุดแล้ว จากนั้นเราก็จะเริ่มหันไปคุยกับเพื่อนที่โรงเรียน มันก็อาจจะเริ่มจากคุยสองสามคำ ยิ้มอายๆแล้วเดินหนี แล้วก็เริ่มถามทุกข์สุข ยิ้มอายๆ(แล้วก็เดินหนีอีก555) พอเราคุยบ่อยๆมันก็จะเริ่มมีเรื่องให้คุยมากขึ้น มันอาจจะเริ่มจากอะไรพิกลๆแบบเรื่องดิน ฟ้า อากาศ ก็ได้นะ สุดท้ายมันก็จะค่อยๆเข้าใจกันเองเพราะเราเป็นวัยรุ่นเหมือนกันน่ะครับ พอมีเพื่อน เขาก็สามารถให้ความช่วยเหลือเราได้ ทั้งด้านภาษา วัฒนธรรม

ข้อดีจริงๆเลยที่เรามีเพื่อนไว้ช่วยเหลือ มันจะทำให้เขาได้รู้จักเรามากขึ้น มันก็จะทำให้เขาเริ่มปรับตัวเข้าหาเราในฐานะ "เพื่อนใหม่"

เราก็จะได้รู้จักกับเพื่อนคนอื่นๆ ยิ่งเราได้ทำกิจกรรม เราก็จะได้พบกับเพื่อนมากขึ้นเท่านั้น แค่รอยยิ้มของคนไทยอย่างพวกเราก็สามารถซื้อใจคนต่างชาติได้แล้ว แต่อย่าแค่ยิ้มอย่างเดียวนะโว้ย - -"


-----------------------------------------------------------------


วันเวลาผ่านไป จากความเหงาที่เราต้องเจอกัน จากกำแพงภาษา เราก็คงไม่รู้ตัวเลยว่า หลังจากเวลาผ่านไป ความเหงาก็เริ่มจะหายไป มีแต่คำว่าเพื่อนใหม่ แล้วก็เพื่อนสนิท การผจญภัยในชีวิตใหม่ก็เริ่มขึ้น เราจะได้มีครอบครัวที่ 2 ที่คอยให้ความรัก เมื่อเรามาถึงจุดนั้น ผมก็ขอแสดงความยินดีด้วยที่คุณไปถึงจุดนั้นแล้ว ทุกคนจงรู้ไว้ว่าเราจะได้ไปถึงจุดนั้นแน่นอน แต่เราจะไปถึงจุดนั้นไม่พร้อมกัน แล้วก็ไม่ใช่ว่าใครไปถึงก่อนคือผู้ชนะนะครับ แล้วก็ได้เวลาเริ่มต้นการดำรงชีวิตของคุณ ในสภาพสังคมที่แปลกใหม่ ที่จะเปลี่ยนให้คุณได้เรียนรู้อะไรอีกมาก และกลายเป็นคนที่มีคุณภาพมากขึ้น แล้วเมื่อกลับมาที่ไทยอีกครั้ง คุณคงจะเป็นคนใหม่ ที่เปี่ยมไปด้วยความคิดต่างๆนาๆ




พอเราปรับตัวได้มันก็จะมีอาการว่า "ไม่อยากกลับบ้านแล้ว"
แล้วพอใกล้จะต้องกลับจริงๆก็เริ่มคิดว่า "ไม่อยากกลับจริงๆนะ"
พอต้องจะกลับจริงๆ ก็คือ "น้ำตา และความเศร้า"

เราจะต้องแยกจากจากครอบครัวอุปถัมภ์ในที่สุด ก็อย่าลืมติดต่อเขาตลอดนะครับ โทรศัพท์ e-mail อะไรก็ตาม อย่าทิ้งกัน

พอเราจากครอบครัวอุปถัมภ์แล้วถึงเวลากลับแล้วจริงๆ ก็จะมีความรู้สึกว่า "เออออออออ กลับก็กลับละวะ"
แล้วจากความรู้สึก ....

"เหงาว่ะ อยากร้องไห้"
......... "ดีใจจังเริ่มปรับตัวได้แล้ว" ........
"สนุกจริงๆเลย ไม่อยากกลับบ้านแล้ว"
........... "เฮ้ย ต้องกลับจริงๆหรอ??" ..........
"(ร้องห่มร้องไห้)" ............." เออ กลับก็ได้วะ"

แล้วพอเราได้เห็นหน้าของครอบครัว(บางคนมีเพื่อนมารับด้วย) ก็เท่ากับว่าการเดินทางของคุณได้สิ้นสุดแล้ว ยินดีต้อนรับกลับเข้าสู่ประเทศไทย เป็นไงล่ะ ตั้ง 1 ปี ผ่านมาได้ยังไงก็ไม่รู้ เร็วกว่าที่คิดใช่มั้ยล่ะ

-----------------------------------------------------------------



หลังจากกลับมาที่ประเทศไทย ก็ต้องปรับตัวนะ

ขอเป็นบทความคร่าวๆกับเรื่องการปรับตัวกลับสู่ประเทศบ้านเกิด น้องบางคนอาจจะมองว่านี่ไม่ค่อยจำเป็นเลย เราอยู่ไทยมาสิบกว่าปี แค่หายไป 1 ปี ภาษาไทยก็อยู่ในสายเลือด กลับมาต้องปรับตัวกันด้วยหรือ? ขอตอบเลยว่า "ต้อง" ครับ มันจะต้องปรับตัวมากกว่าที่คิดไว้อีกครับเนื่องจากการที่คุณไปอยู่ในที่ๆมีวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมต่างกัน มันก็จะเปลี่ยนมุมมองการคิดของแต่ละคนไปโดยที่คุณเองอาจจะไม่รู้ตัวด้วยซ้ำไป กลับมาที่ไทยนั่นแหละ ถึงจะรู้ว่าเราเปลี่ยนไปแค่ไหน แล้วมันก็จะทำให้เรารู้สึกว่าเราเปลี่ยนไปนะ

พอกลับมาแล้ว แน่นอนว่าแต่ละคนจะมีประสบการณ์ดีๆน่าจดจำ(จนวันตาย) แล้วก็อยากที่จะเล่าให้พ่อแม่พี่น้อง เพื่อนฝูงฟัง มันไม่ใช่เรื่องผิดเลยที่เราอยากจะเล่าประสบการณ์ดีๆให้คนอื่นฟัง แต่มันก็ไม่ผิดสำหรับอีกฝ่ายเลยถ้าเขาจะไม่มีอารมณ์ร่วมกับประสบการณ์ของเรา ทำให้ดูเหมือนเขาไม่ได้สนใจเรื่องราวชีวิตของเราในต่างประเทศเสียเท่าไหร่ ก็อย่าพึ่งไปน้อยใจนะครับว่า "อะไรว๊า ทำไมไม่สนใจที่เราเล่าบ้างเลย" ก็ต้องทำความเข้าใจกันหน่อยว่า มีแค่ตัวเราคนเดียวที่เข้าใจชีวิต และได้สนุกกับชีวิตในปีที่ผ่านมา คนอื่นเขาก็ไม่เข้าใจเรา ให้ตายยังไงก็ไม่เข้าใจเท่าเรา ถ้าเราเล่ามากไป ก็จะทำให้คนมองว่าเรา "ขี้โม้" คุย"โว"

จึงขอแนะนำเลยว่าเวลาเล่าก็ขอให้เล่าแบบพอตัว ถ้าอยากจะเล่าประสบการณ์แบบจุใจกว่านี้ก็ให้ไปคุยกับเพื่อนที่ไป AFS ด้วยกัน นั่นแหละครับเราจะคุยได้อย่างสบายใจ อย่างน้อยเขาก็เข้าใจเรา เขาใจวัฒนธรรมที่ไปเจอมาด้วยกัน มันเลยทำให้เพื่อน AFS อยู่ทนอยู่นานกว่าที่คิดครับ



หลังจากที่เรากลับมา อย่างที่บอกแล้วว่าการวางตัวของเราจะเปลี่ยนไป บางคนก็จะมองว่าเราเปลี่ยนไปนะ ทำไมไม่ใช่คนเดิมที่เราเคยรู้จัก พ่อและแม่จะเข้าใจเราดังนั้นท่านคงไม่มีปัญหากับการเปลี่ยนไปมากนัก แต่ระหว่างเพื่อนที่โรงเรียน เขาอาจจะมองเราในแง่ลบ เพราะการที่เราไม่ใช่ "คนเดิม" ที่เขาเคยรู้จัก และเราก็หายไปหนึ่งปี ต่อให้คุย msn หรือโทรกลับไปหาเพื่อนบ่อยเท่าไร มันก็ยังมีกำแพงกั้นระหว่างเรากับเพื่อนได้ บางคนกลับมาก็จะต้องเหงาเหมือนถูกแยก ตรงนี้ก็ขอให้ทุกคนอดทนเอาไว้ เราจะต้องใช้เวลาปรับตัว ใช้เวลาที่กลับมาตามสังคมในโรงเรียนให้ทันว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง เพื่อนเราเองเขาก็ต้องขอเวลาในการปรับตัวเข้าหาเรา อย่าวู่วามว่าเขาทิ้งเราไปก่อนนะครับ ยังไงเพื่อนก็ไม่ทิ้งกันหรอกครับ แค่ขอเวลา อาจจะต้องมีความทุกข์และน้ำตากันบ้าง อย่าลืมว่า "อดทน"

ทีนี้มีอีกมุมมองที่อยากเล่าหลังจากที่กลับมา เพื่อนๆ AFS ของเราด้วยกันเอง อาจจะมีนิสัยที่เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง บางคนอาจจะไปดื่มเหล้าเมายา เที่ยวกลางคืนจนนิสัยไม่น่าคบ บางคนกลับมาจะดูหยิ่งยโสไม่สนใจผู้อื่น คิดแค่ว่า "ข้าไปต่างประเทศมา ได้ดื่มเหล้าสูบ เออ ข้าเจ๋งสุดแล้ว" อันนี้ก็ขอให้เขาเปิดโลกหน่อยละกันนะครับ คนไหนที่ไปมาแล้วเป็นแบบที่เราพูด ก็อยากให้คิดดีๆว่า เราไป AFS มานี่เราไปเพื่ออะไรกันแน่ คุณพ่อคุณแม่จ่ายเงินไปเพื่อให้เราไปทำอะไรแบบนั้นหรือเปล่า?

บางคนจะดูหยิ่งเพราะคิดว่า "ที่ๆข้าไป ประสบการณ์ข้ามันเจ๋งกว่าของพวกแกทุกคน เออ ข้าแน่สุด เจ๋งสุด" แบบนี้ก็ขอให้คุยกันดีๆละกันนะครับ เราไปมาคนละที่ อยู่คนละครอบครัว คนละโรงเรียน แน่นอนว่าประสบการณ์ที่ได้มามันต้องต่างกันทุกคน ไม่มีว่าของใครดีที่สุด ถ้าคิดแบบนี้ก็แนะว่าอย่าไปเลยนะครับ เราไปเพื่อให้สิ่งที่ดีที่สุดต่อตัวเอง ไม่ใช่เพื่อความเหนือผู้อื่นและศักดิศรี มันเป็นอะไรที่ดูแย่มากนะครับถ้ากลับมาแล้วเป็นแบบนี้ เราอาจจะไม่เห็น แต่คนอื่นเขาจะมองเราไม่ดีครับ ก็อย่าลืมการวางตัว แล้วก็คิดก่อนที่จะพูดด้วย



กลับเข้าสู่การศึกษาไทย(น่ายินดีมาก)

สมมุติว่าถ้ากลับมาถึงประเทศไทยแล้ว ชีวิตก็จะสับสนมากเลย ไหนจะต้องเลือกว่าจะซ้ำชั้นหรือไม่ซ้ำ บางคนมีคำตอบอยู่ในใจไว้แล้ว แต่บางคนก็มาลังเลทีหลัง อย่างผมนี่เคยบอกว่าจะซ้ำ แต่สุดท้ายตอนนี้ก็เลือกที่จะข้ามมาอยู่กับเพื่อนเอาจนได้

ทีนี้ผมจะขอพูถึงพวกที่ ซ้ำชั้น และ ข้ามชั้นแบบเท่าที่รู้นะครับ

พวกซ้ำชั้น -- กลุ่มนี้จะต้องตัดสินใจให้เด็ดเดี่ยวที่สุด หรือบางโรงเรียน จะบังคับให้ซ้ำแบบไม่มีทางเลือกเลยเพราะคุณจะต้องเจอกับเพื่อนที่เป็นรุ่นน้อง หลังจากที่ไปอยู่ในสังคมต่างชาติมาแล้ว บางคนมองว่าอยู่กับรุ่นน้องยังดูยากกว่าอยู่ต่างประเทศอีก แล้วมันก็ดูช้ำใจนะที่ดูเพื่อนๆของเราจบการศึกษาไปเข้ามหา'ลัยขณะที่เรายังแง่กอยู่ตรงนี้ ตรงนี้มันก็ขึ้นอยู่กับความคิดแต่ละคนนะครับ ถ้าเราเลือกที่จะซ้ำ ก็น่าจะเพราะว่าเราอยากเก็บความรู้ที่ยังไม่ได้เรียน อยากจะเตรียมพร้อมในการเข้ามหา'ลัย อยากจะเอาให้มันชัวร์ เพราะถ้าข้ามชั้นไปแล้วเอนท์ไม่ติด มันจะคุ้มกันหรือเปล่าล่ะ แล้วก็ยังมีบางคณะที่เขาไม่รับนักเรียนที่ไม่ได้เรียนครบ 3 ปีด้วย บางคนก็ต้องซ้ำแบบไม่มีทางเลือก โดยเฉพาะเด็กสายวิทย์ ถ้ามุ่งมั่นจะเรียนทางวิทย์ ก็ไม่ต้องคิดมากเลย "ต้องซ้ำ" ครับ แต่เรื่องเรียนกับรุ่นน้อง จะบอกว่าอย่าเอาไปเป็นปัญหานักเลยครับ เพื่อนๆผมหลายคนก็เข้ากับรุ่นน้องได้ดี ขณะที่เขาก็ไม่ลืมเพื่อนรุ่นตัวเอง มันต้องแบ่งเวลา

พวกไม่ซ้ำชั้น -- จะขอพูดยาวสักนิด ทนอ่านหน่อยบนะครับ เพราะเราคิดว่ากลุ่มนี้จะปัญหาเยอะกว่าพวกซ้ำเพราะพวกที่ซ้ำเขาก็คือตั้งต้นใหม่แล้ว
ไปตามลำดับ แต่กลุ่มนี้ ในเมื่อเราข้ามมาก็ต้องเจอกับปัญหาเยอะแยะ ..กลุ่มนี้จะมีได้สำหรับคนที่ได้ไปในช่วงระดับ ม.4 กับ ม.5 เท่านั้น ถ้าไปตอนม.6 กลับมายังไงก็ต้องซ้ำ เนื่องจากผมเป็นคนในกลุ่มนี้ ดังนั้นก็จะบอกว่ากลุ่มนี้เนี่ยกลับมาจะมีอารมณ์แปรปรวนเป็นระยะ เพราะว่านอกจากเรายังขาดพื้นฐานวิชาต่างๆที่โหว่ไปในปีที่เราไปAFS เรายังต้องมาเรียนระดับที่สูงกว่า ยากกว่า ทั้งๆที่เราไม่มีพื้นเลย แล้วมันจะทำให้เราวกกลับมาคิดว่า "เราอาจจะตัดสินใจผิดที่ข้ามชั้นมา" "ทำไมเราไม่ซ้ำชั้นล่ะ" "ชีวิตทำไมมันตกต่ำอย่างนี้ เอนท์ไม่ติดแน่กรู" อะไรประมาณนี้... แต่เมื่อมันทำให้เราคิดแบบนี้ก็แนะนำว่า แล้วทำไมถึงคิดจะข้ามมาแต่แรกล่ะครับ? เพราะว่าเราคิดว่าเราทำได้ใช่มั้ยล่ะ? อีกอย่างนะครับ การตัดสินใจนี้มันแก้ไขไม่ได้ เลือกทางนี้ก็ต้องมาทางนี้เลย รับผิดชอบการตัดสินใจของตัวเองครับ

พวกไม่ซ้ำชั้นเนี่ย จะทำให้ตัวเลือกการเลือกคณะของคุณน้อยลง แต่ก็ไม่ใช่ว่าเหลือนิดเดียว ก็แค่บางคณะที่เขาไม่รับเด็กที่มีหน่วยกิต หรือเด็กที่มีปีการศึกษาไม่ครบ 3 ปี ซึ่งก็ไม่ทราบเหมือนกันว่ามีคณะอะไรบ้างนะครับ ค้นคว้าเอาเอง แต่ขอบอกว่ามีไม่เยอะหรอกครับ วิธีคิดมันเป็นดังนี้ครับ

เพื่อนๆคนอื่นที่ไม่ได้ไปโครงการแลกเปลี่ยนเขามีเวลาการเรียน 6 เทอมครบถ้วน ดังนั้นคะแนนที่คิดก็จะหารด้วย 6 แต่พวกเราที่กลับมาแล้วข้ามชั้น มีเวลาเรียนทั้งหมดแค่ 4 เทอม จำนวนเทอมที่จะต้องหารจากเกรดทั้งหมดก็เป็นแค่ 4 ง่ายๆก็คือตัวหารของเราที่จะเอามาคิดเป็น GPA มันน้อยกว่าเพื่อนคนอื่นเพราะเวลาเราเรียนน้อยกว่า หน่วยกิตเราน้อยกว่าซึ่งมันก็แฟร์กันอยู่แล้วครับ บางคนอาจจะได้เปรียบด้วยซ้ำไปเพราะเกรดไม่ค่อยดี แต่ตัวหารน้อย มันเลยดูดีกว่าหารมากๆดีไม่ดี ถ้ากลับมาทำคะแนนได้ดี เหลือแค่โอนหน่วยกิตเพื่อให้เรามีหน่วยกิตครบ(อ่านด้านล่าง) ก็ลอยลำเลย ดังนั้น เพื่อนๆหลายคนอาจจะอิจฉาตาร้อนพวกเราด้วยซ้ำไปนะ 555

สถาบัน/ คณะที่จะรับนักเรียนที่ไป AFS โดยที่ไม่ซ้ำชั้น หรือมีหน่วยกิตไม่ครบแบบชัวร์ๆ 100% มีดังนี้ครับ

1. มหาวิทยาลัยนานาชาติทั้งหลาย เช่น จุฬาอินเตอร์ฯ, มหิดลอินเตอร์ฯ, ธรรมศาสตร์อินเตอร์ฯ, ABAC
- การสอบเข้าบางที่จะให้คุณสอบ Admission ด้วย แต่จะไม่เน้นมากเท่่าพวกที่ไม่ใช่อินเตอร์
- สำหรับใครที่ต้องการสอบเข้า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะอินเตอร์ จะต้องสอบ CU-TEP / CU-AAT / SAT / TOEFL
- สำหรับใครที่ต้องการสอบเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะอินเตอร์ หรือ SIIT(ศูนย์สิรินธร) จะต้องสอบ CU-TEP / TU-GET / SAT / TOEFL

*ใครสงสัยเรื่องข้อสอบพวกนี้ รออ่านตรงนี้ให้จบก่อนนะครับ

2. การสอบตรง --- สมัยนี้การสอบตรงเป็นที่นิยมมากขึ้นมาก แต่คุณจะต้องศึกษาเฉพาะด้านวิชามากขึ้น อย่างเช่น นิติฯ รัฐศาสตร์ แต่ถ้าสอบติดไป มันก็คุ้มนะ

3. มหาวิทยาลัยเอกชน -- ง่ายๆคือยื่นแล้วก็เข้าได้แล้วล่ะครับ

4. มหาวิทยาลัยรัชภัฎ -- เหมือนเอกชน

5. เรียนต่างประเทศ -- เอาเกรดในไทยของคุณไปใช้ประกอบกับเกรดที่เรียนในปี AFS ของคุณ อาจจะต้องไปที่กระทรวงศึกษาฯด้วย

ข้อสอบการเข้าภาคอินเตอร์

จะขอไล่ไปและอธิบายคร่าวๆนะครับว่ามีอะไรบ้าง
คำเตือน อาจจะมีตกหล่นนิดหน่อยน้า

SAT - เป็นข้อสอบที่เรียกได้ว่าเป็นข้อสอบเอนท์ของพวกเด็กอเมริกัน แต่มีแค่วิชาภาษาอังกฤษ และ คณิตศาสตร์เท่านั้น เด็กอเมริกันส่วนใหญ่ใช้การสอบ SAT เป็นการชี้ว่าจะได้เข้ามหา'ลัยไหน ชื่อเต็มๆของ SAT คือ SAT Reasoning Test เป็นการฝึกการคิดวิเคราะห์ทั้งพื้นฐานภาษา การตีความประโยค แกรมม่า การเขียน และ คณิตศาสตร์(อ้าว อย่าพึ่งหนี 555+) SAT จะใช้ในการสอบเข้าภาคอินเตอร์ และข้อสอบจะมีทั้งหมด 10 ตอน เวลาการทำข้อสอบรวมก็ 3 ชม. กว่าๆ และมีหลายๆ Part ดังนี้ครับ

* Essay - จะต้องเขียนเรียงความ ส่วนมากจะเป็นแนวๆความคิดเห็นกึ่งปรัชญา
* Critical Reading - การอ่านแบบตีความ ขอเตือนว่าศัพท์จะยากมาก
* Writing - จะเป็นความเข้าใจเรื่องศัพท์อังกฤษ แกรมม่า
* Math - เลข ซึ่งมันจะมีทั้งระดับง่ายแบบแก้สมการหมูๆ ไปจนถึงฟังก์ชัน แต่ก็เป็นแบบเบื้องต้น

SAT จะเป็นข้อสอบที่ยาก เพราะมันเป็นมาตรฐานเด็กอเมริกัน แต่สำหรับภาคอินเตอร์ในไทย เขาไม่ได้วางคะแนนไว้สูงเท่ามาตรฐานเด็กฝรั่งหรอกครับ แต่มันก็ต้องขยันอยู่ดี

การสอบ SAT จะมีให้สมัครเป็นรายเดือน ติดตามข้อมูลได้ที่เว็บนี้ >>http://www.collegeboard.com/splash/


SAT II - เท่าที่รู้ก็คือการสอบวิชาเฉพาะสำหรับคนที่จะเรียนภาคอินเตอร์สายวิทย์ หรือภาษาที่ 3 ข้อสอบจะมี ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ และภาษาที่3 เลือกสอบได้ตามสบายครับ จากที่ได้ยินมาคือไม่ยากถึงระดับวิทย์ ANET แต่ก็ประมาทไม่ได้

ติดตามที่เว็บนี้เช่นกัน >> http://www.collegeboard.com/splash/

TOEFL - เป็นข้อสอบที่ใครที่เรียนนอกต้องรู้ ส่วนมากใครจะเข้าคณะอินเตอร์จะต้องผ่านข้อสอบนี้ทั้งหมด นี่เป็นข้อสอบของประเทศอเมริกาสำหรับคนต่างชาติที่จะเข้ามาเรียนในอเมริกา ทำให้เขาชัวร์ว่า "เอ็งแน่พอที่จะมาเรียนในประเทศเรา" ข้อสอบ TOEFL จะง่ายกว่า SAT และไม่มีเลขด้วย

การสอบจะต้องทำในคอมพิวเตอร์ มีทั้ง

*Writing
*Listening
*Gramma
*Structure บลาๆๆ

CU-TEP - (บางคนเรียก CU - เทพ ลองไปสอบแล้วฟังเสียงยินดีต้อนรับก่อนสอบนะ ตลกมาก 5555) )เป็นข้อสอบภาษาอังกฤษของจุฬาฯ ใครจะเข้าภาคอินเตอร์จุฬา ต้องสอบอันนี้แน่นอน แต่ได้ยินมาว่าใครเข้าธรรมศาสตร์ก็ต้องสอบอันนี้ด้วยครับ

CU-AAT - นี่เป็นข้อสอบเลขของจุฬา และแน่นอน ใครจะเข้าภาคอินเตอร์จุฬา ต้องสอบ

TU-GET - เหมือนกับ CU-TEP แต่ว่าเปลี่ยนเป็นสำหรับธรรมศาสตร์ครับ

SMART 1 - นอกจากจะมีไว้สำหรับคณะของธรรมศาสตร์ที่เกี่ยวกับตัวเลข อย่างบัญชี / เศรษฐศาสตร์ แล้ว คณะ บัญชี / เศรษฐศาสตร์ภาคอินเตอร์ของธรรมศาสตร์ก็ต้องใช้อันนี้ด้วย

และยังมีข้อสอบอื่นๆอีกนะครับ ขึ้นอยู่กับตัวคุณล่ะว่าจะเลือกทางไหน ถ้ามาทางอินเตอร์ก็หาที่ดีๆที่เหมาะกับตัวเองละกันนะครับ เราช่วยมากกว่านี้ไม่ได้เพราะไม่ได้เข้า 555+



ทีนี้มาดูกลุ่มที่ข้ามชั้นที่ยืนยันว่า "ข้ากลับมาก็จะสอบแอดมิชชั่นเหมือนเพื่อนๆนะแหละ" กลุ่มนี้จะเจออารมณ์แปรปรวนยิ่งกว่าพวกที่จะเข้าอินเตอร์อีกครับ แต่จะบอกว่าคุณจะพบความมันส์ของชีวิต โหด มันส์ ฮา และจะภูมิใจในตัวเองโคตร ถ้าเราทำได้(คนเขียนก็อยู่กลุ่มนี้แหละครับ ตอนนี้ยังไม่รู้ผลเลย 555)

ถ้าอ่านมาคงรู้แล้วนะครับว่าเราพูดถึงนักเรียนที่กลับมาแล้วข้ามชั้นมาม.6 เลย มันหมายความว่าม.5 คุณแหว่งไปเพราะต้องไป AFS

ม.5 เป็นปีที่สำคัญเพราะเนื้อหาหลายๆอย่างมันจะอัดกันเอาไว้ขณะที่ ม.6 จะหนักแค่เทอมต้น ส่วนเทอมปลาย บางที่เขาจะผ่อนๆลงมาให้เด็กเตรียมสอบ Admission แต่ถ้าเป็นเด็ก AFS ก็จะไม่ได้ผ่อนอะไรเลยเพราะเมื่อกลับมาแล้วคุณจะต้องเจอศึกหนักกับการตามเรียนให้ทัน
ไม่ว่าจะเป็นการเรียนพิเศษเติมส่วนของ ม.5 และเรียนเพื่อเตรียม Admission และต่อไปนี้คือสิ่งที่ต้องทำครับ

1. กลับมาแล้ว จงไปที่โรงเรียนให้เขาโอนหน่วยกิตในปีที่ไป AFS มา ทำให้คุณมีหน่วยกิตเท่าเพื่อนๆที่ไทย แต่ว่าการโอนหน่วยกิตมันจะได้มาแค่ตัวเลขนะครับ กระทรวงฯ เขาไม่ยอมให้เอาเกรดมาด้วย

2. ถ้าไม่มั่นใจในความสามารถตัวเองก็จงไปหาที่เรียนพิเศษเถอะครับ จะเป็นที่ไหนก็หาไปเรียน เอาให้ได้ครบทุกวิชาได้ยิ่งดี เลือกที่เรียน และ คอร์สเรียนที่มันได้เยอะๆ เราได้เปรียบ และเสียเวลาน้อยที่สุดได้ยิ่งดี รับรองถ้าตั้งใจเรียน สู้เพื่อนที่ไม่ได้ไป AFS สบาย

3. คำขาดเลย! จง! อ่าน! หนังสือ! ตั้ง! แต่! เนิ่นๆๆๆ!!!! -- หายไป 1 ปี ทำงานหนักกว่าคนอื่น ว่างๆก็อ่านซะเถอะครับ

4. และสุดท้ายนี้ เชื่อว่าหลังจากที่กลับมาจากประเทศใดก็ตามที่คุณไปมาแล้ว เราคาดหวังว่าคุณจะมีความเป็นผู้ใหญ่และคิดเองได้อย่างมั่นใจมากขึ้นนะครับ ดังนั้น อนาคตตัวคุณ ก็ขึ้นอยู่กับคุณเอง 1 ปีนับถอยหลังสู่การสอบเข้ามหา'ลัย จัดการชีวิตด้วย"ตัวเอง" ครับ

เพื่อนมหา'ลัยของผมที่ไป AFS กลับมาข้ามชั้นแล้วเอนท์ติดทั้งๆที่เรียนไม่ครบ 3 ปีก็ผ่านเข้ามาได้ตั้งหลายคน บางคนติดจุฬาเลยด้วยซ้ำไปครับ แต่เท่าที่คุยมา ไม่มีใครเลยที่ไม่เครียด ไม่จิตตก บางคนก็ถึงขั้นร้องไห้โฮ ซึ่งยังไงก็เพื่อนๆกัน กลับมา ดูแลกันดีๆนะครับ และก็บอกได้อย่างเดียวคือเมื่อคุณเลือกมา "ทางลัด" ก็ต้องเดินอย่างระมัดระวังและมั่นคง เพราะนี่เป็นทางที่ถ้าเลือกเดินแล้วก็เปลี่ยนใจไม่ได้อีกแล้ว ต้องหนักแน่น อดทน ใจสู้เท่านั้นครับ



โปรโมชั่นพิเศษต้อนรับนักเรียน AFS : กลับเข้าสู่การฝึกนักศึกษาวิชาทหาร(รู้นะว่าดีใจ)

สำหรับน้องผู้ชาย อันนี้อาจจะเป็นข้อสุดท้ายที่อยากนึกถึงเพราะว่าหลังจากผ่านไป 1 ปีกับ AFS ผมบนหัวก็เริ่มยาวขึ้นจนไม่เรียกว่าทรงผม บางคนก็กลายเป็นทรงเกาหลีจนตาดงบังเรียกป๋า บางคนก็ไว้ยาวแบบหนุ่มมาดเซอร์ ใครจะอยากคิดว่าเราจะต้องกลับมาตัดผมเกรียนใส่เครื่องแบบ รด. โดนสั่งหมอบกันอีกแล้ว ยอมรับเสียเถอะครับ เพราะถ้าน้องไม่ได้มีเส้นสายอะไรที่ทำให้ตัวเองรอดอะไร ก็ต้องยินยอมแบบไม่มีทางเลือก เพียง 15 นาที ผมบนหัวน้องที่ไว้ยาวมาตลอดปีจะหายไปในพริบตา แต่จะคิดอะไรมาก? รับใช้ชาติครับ!! น้องต้องปรึกษากับอาจารย์ผู้กำกับนักศึกษาวิชาทหารที่โรงเรียนของน้องถ้า...

1. ถ้าวันที่น้องกลับมาจาก AFS อยู่ก่อนวันรายงานตัว นศท. ให้แจ้งกับอาจารย์ผู้กำกับเพื่อดำเนินการ แล้วทุกอย่างก็จะไปตามระบบเลยครับไม่ต้องห่วง

2. ถ้าวันที่น้องกลับมาจาก AFS เลยวันรายงานตัว นศท. ไปแล้ว พี่แนะนำว่าง่ายสุดคือให้คุณพ่อคุณแม่น้องจัดการให้(หรืออาจจะเป็นเพื่อนของน้อง ซึ่งพี่ไม่รู้ว่าครูฝึกเขาจะยอมไหมนะ) แล้วให้ท่านคุยกับอาจารย์ผู้กำกับครับ พอน้องกลับมา ทางศูนย์ฝึกเขาจะไม่ถือว่าวันน้องขาดเลยนะ(กรณีที่ถ้าน้องกลับมาจาก AFS หลังจากที่เพื่อนๆเขาเรียน รด. ไปหลายอาทิตย์แล้ว) เขาถือว่าที่เราไปน่ะ ทำประโยชน์เพื่อชาติ ดังนั้นไม่ต้องเครียดครับ ส่วนถ้าหากว่าวันที่น้องกลับจาก AFS เลยวันรายงานตัวเฉยๆ ถ้าน้องฝากพ่อแม่หรืออาจารย์จัดการเรื่องเสร็จ น้องก็แค่พักตราชั้นปีนั้นที่น้องเรียนแล้วเข้าเรียนได้ทันทีครับ


-----------------------------------------------------------------




แล้วคำแนะนำของเรา ก็หมดลงเพียงเท่านี้ครับ หากเพื่อนคนไหนที่สนใจ ก็อย่าลังเล ไปสมัครได้ เราจะเป็นกำลังใจให้ และขอให้โชคดีกับการสอบ AFS เราเขียนแนะนำมายาวเหยียดนี่ก็เพราะว่า อยากให้ทุกๆคนไปสอบจริงๆ อยากให้ทุกๆคน ได้มีโอกาส ได้พัฒนาตนเอง ได้ลองกับสิ่งใหม่ๆ ไม่รักจริง ก็คงไม่เขียนซะยาวเหยียดหรอกนะครับ ยังไง ก็ขอให้โชคดีก็แล้วกันครับ

สวัสดีครับ


และหากใครมีอะไรสงสัย ต้องการให้เราช่วยเหลือเรื่อง AFS นี้ เรายินดีช่วยเต็มที่ครับ add ได้เลย

*รบกวนน้องจะถามเรื่อง AFS แนะนำตัวและบอกด้วยน้าว่าจะถามเรื่อง AFS บางทีถามมาหลายคนพี่จำไม่ได้
หรือถ้าไม่ได้ตอบต้องขอโทษด้วยนะครับ บางทีออนแต่ไม่ได้อยู่ตรงนั้นครับ

tanba_jing@hotmail.com พร้อมยินดีช่วยเพื่อนๆเสมอครับ smile.gif

3 ความคิดเห็น:

  1. สุดยอดดดดดดดดดด!!!!

    ตอบลบ
  2. แล้วก็ยังมีบางคณะที่เขาไม่รับนักเรียนที่ไม่ได้เรียนครบ 3 ปีด้วย << ปัจจุบันไม่มีแล้วนะครับ นร.แลกเปลี่ยนมีสิทธิเข้าสมัคร ทุกคณะ ทุกมหาลัย เท่าเทียกับ นร.ปกติทุกประการ โดยข้อกำหนดที่ระบุไว้ในคุณสมบัติผู้สมัคร ไม่สามารถบังคับมาถึงนักเรียนแลกเปลี่ยน *อย่าลืมสิเราเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนนะ ต้องพิเศษ!! :)

    บางคนก็ต้องซ้ำแบบไม่มีทางเลือก <<ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ ระบุว่านร.แลกเปลี่ยนทุกคนมีสิทะ์เข้าเรียนชั้นเรียนต่อไปได้เลย โดยไม่ต้องซ้ำชั้นเว้นแต่ คนที่ไปตอน ม.6 ต้องกลับมาซ้ำเทอมสุดท้ายของช่วงชั้น

    โดยเฉพาะเด็กสายวิทย์ ถ้ามุ่งมั่นจะเรียนทางวิทย์ ก็ไม่ต้องคิดมากเลย "ต้องซ้ำ" ครับ << ไม่จำเป็น ผมคนนึงหละไม่ซ้ำ

    ตอบลบ
  3. ขอบคุณค่ะ เปิดมาเจอ น้ำตาไหล TT^TT กำลังจะไปแลกเปลี่ยน AFS ปีนี้ค่ะ กำลังสับสนอย่างแรงว่าจะซ้ำหรือไม่ซ้ำ...

    ตอบลบ